คริปโตเคอเรนซี่ 101 ที่มาและที่ไปของเงินดิจิทัล (2)

คอลัมน์ ช่วยกันคิด โดย ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย www.lawreform.go.th

ตอนที่แล้วผู้เขียนได้นำเสนอนวัตกรรมการเก็บข้อมูลแบบกระจายส่วนในรูปของเทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบบการเงินดิจิทัล ในตอนที่ 2 นี้ ผู้เขียนขออธิบายหลักการเบื้องต้นและวิธีการสร้างเงินดิจิทัล โดยจะแบ่งออกเป็นสามหัวข้อ ได้แก่ (1) เงินดิจิทัลคืออะไร (2) การสร้างเงินดิจิทัล และ (3) การระดมทุนด้วย ICO

เงินดิจิทัลคืออะไร ?

เงินดิจิทัลมีคุณลักษณะหลักสามประการ

ประการแรก คือ ความไม่มีลักษณะทางกายภาพ (digital matter) กล่าวคือ ไม่สามารถจับต้องได้ ต่างจากธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์

หากมีการทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าหรือบริการเกิดขึ้น ผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องส่งมอบเงิน (ที่จับต้องได้) ให้แก่ผู้ขาย

การชำระหนี้จะเกิดขึ้นจากการที่คอมพิวเตอร์ของทั้งผู้ซื้อและผู้ขายทำการประมวลผลเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและยืนยันการทำธุรกรรมนั้น ๆ

ประการที่สอง คือ การกระจายส่วน (distributed ledger) หลักฐานการซื้อขายที่เกิดขึ้น จะได้รับการบันทึกลงไปในฐานข้อมูลของคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่เชื่อมโยงกันในเครือข่ายเงินดิจิทัลนั้น

และเทคโนโลยีที่ใช้ในการบันทึกหรือลงบัญชีเพื่อเป็นหลักฐานก็คือ บล็อกเชน ซึ่งได้นำเสนอไปในคราวที่แล้วนั่นเอง

ประการสุดท้าย คือ การเข้ารหัส (encryption) แม้ว่าหลักฐานของการทำธุรกรรมจะถูกบันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในระบบดังที่ได้กล่าวมาแล้ว สมาชิกของระบบที่ไม่ใช่ผู้ซื้อหรือผู้ขายของธุรกรรมดังกล่าว (counterparties) จะสามารถเข้าถึงได้ก็แต่เพียงข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งเป็นข้อมูลสาธารณะที่ไม่ได้ถูกเข้ารหัส (unencrypted) เท่านั้น (อาทิ การกล่าวแจ้งว่ามีการทำธุรกรรมเกิดขึ้น)

แต่จะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลลับที่ถูกเข้ารหัส (encrypted) ไว้ได้เลย (อาทิ ลักษณะของสินค้าหรือบริการที่ซื้อขาย ราคาของสินค้า หรือที่อยู่ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมนั้น)

ทั้งนี้ ผู้ที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลลับเหล่านี้ได้จะต้องมีรหัสผ่านเฉพาะตัวเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ เงินดิจิทัลในภาษาอังกฤษจึงเรียกว่า cryptocurrency หรือเงินเข้ารหัสนั่นเอง

การสร้างเงินดิจิทัล หากเงินดิจิทัล หรือเงินคริปโตฯ เป็นเพียงแค่ข้อความหนึ่งบรรทัดที่ปรากฏอยู่ในสมุดบัญชีอิเล็กทรอนิกส์และไม่อยู่ในรูปที่สามารถจับต้องได้

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เคยสงสัยกันไหมครับว่า เงินเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นบิตคอยน์ (bitcoin) อีเทอร์ (ether) หรือริปเปิล (ripple) มีจุดเริ่มต้นมาจากไหน ที่ใด และเพราะเหตุใดจึงได้รับความนิยมจากทั้งนักลงทุนรายย่อยและผู้ลงทุนสถาบันเป็นจำนวนมาก

การสร้างสายรหัสเงินดิจิทัลหรือตัวต่อ (block) ขึ้นใหม่เปรียบเสมือนการเล่นเกมตอบปัญหาทางคณิตศาสตร์ระดับสูง ผู้ที่ตอบถูกก็จะได้รางวัลเป็นสายรหัสหรือตัวต่อเงินดิจิทัลดังกล่าว

ระบบเงินดิจิทัลแบบบล็อกเชนทุกสกุลปฏิบัติการโดยใช้ ระบบรักษาความปลอดภัยที่ขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจ (incentive-driven model of security)

กล่าวคือ จะต้องมีการตั้งค่ากลางสำหรับการคัดเลือกสายรหัสหรือตัวต่อตัวใหม่ในเครือข่าย โดยคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในระบบจะต้องมีฉันทามติว่า สายรหัสที่เลือกนั้นเป็นสายรหัสที่เสนอปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่ยากที่สุด ผู้ที่แก้โจทย์ได้ก่อนก็จะได้รับเงินดิจิทัลเป็นรางวัลตอบแทน

การแก้ปัญหาดังกล่าวต้องใช้ความสามารถในการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ขั้นสูง โดยผู้ชนะจะต้องเขียนแสดงคำตอบ (proof of work) ไว้ในตัวต่อตัวใหม่ เพื่อให้คอมพิวเตอร์ในเครือข่ายเครื่องอื่น ๆ “ตรวจการบ้าน” เพื่อตรวจสอบว่า คำตอบที่ส่งมานั้นได้มาโดยใช้วิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดหรือไม่

และว่า ไม่มีวิธีการอื่นใดที่สามารถหาคำตอบหรือเส้นทางเดิน (nonce) อื่นที่ดีกว่านี้ได้อีกต่อไปแล้ว

ทั้งนี้ สมาชิกในเครือข่ายทุกรายสามารถอาสาเป็นผู้แก้โจทย์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า มายเนอร์ (miner-นักถลุงแร่) ได้ โดยรางวัลตอบแทนจะมีมูลค่าเป็นสัดส่วนกับระดับความยากง่ายของโจทย์คณิตศาสตร์ที่ได้รับ ผลพลอยได้ประการหนึ่งของการสร้างเงินดิจิทัลในลักษณะนี้ คือ การเพิ่มตัวต่อให้สายรหัสยาวขึ้นเรื่อย ๆ เป็นการเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยให้กับระบบเครือข่าย

เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มระดับความยากของโจทย์คณิตศาสตร์แล้ว ยังเป็นการเพิ่มความซับซ้อนทำให้ยากต่อการถูกโจรกรรมข้อมูลอีกด้วย

ICO : ทางเลือกใหม่ของการระดมทุนในภาคเอกชน บริษัทหลายบริษัททั้งขนาดใหญ่และเล็กเริ่มหันมาสนใจช่องทางในการระดมทุนผ่านการขาย “เหรียญ” ดิจิทัล (digital token) โดยเรียกกันว่าการทำ initial coin offering หรือ ICOซึ่งเป็นการล้อคำศัพท์ที่ใช้เรียก การออกขายหุ้นครั้งแรกในตลาดหลักทรัพย์ หรือที่เรียกกันว่า initial public offering (IPO) นั่นเอง โดยบริษัทผู้ระดมทุนจัดจำหน่ายขายเหรียญดิจิทัลโดยกำหนดราคาอ้างอิงกับเงินกระดาษ หรือเงินดิจิทัลอื่น

หลายคนอาจกำลังสับสนว่า เหรียญดิจิทัล (utility token) กับเงินดิจิทัล (cryptocurrency) มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

ผู้เขียนขออธิบายโดยสังเขปดังนี้ครับ เงินดิจิทัลสร้างได้ด้วย “การถลุง” ตามที่เล่าคร่าว ๆ ในข้างต้น กล่าวคือ ขั้นตอนการผลิตเงินแต่ละหน่วยขึ้นอยู่กับกฎที่มีการตั้งค่าไว้ในระบบ และมีจุดประสงค์ เพื่อใช้สำหรับเป็นตัวกลางในการซื้อสินค้าหรือบริการจากห้างร้าน เว็บไซต์ หรือบริษัทที่รับชำระด้วยเงินดิจิทัล

ผู้ที่ประสงค์จะถือครองเงินดิจิทัลสามารถแลกซื้อด้วยเงินกระแสหลัก (เช่น เงินบาท หรือดอลลาร์สหรัฐ) ในอัตราแลกเปลี่ยนประจำวันจากตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยน (ส่วนใหญ่ กระทำผ่าน application ในคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ทโฟน)

ในส่วนเหรียญดิจิทัลนั้น แต่ละเหรียญคือหลักฐานแสดงสิทธิในการได้รับสินค้าหรือบริการจำนวนหนึ่งหน่วย ที่บริษัทผู้ออกจำหน่ายเหรียญดังกล่าวสัญญาว่าจะผลิตหรือจัดทำขึ้นในอนาคต

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นการ “pre order” สินค้าหรือบริการนั่นเอง โดยบริษัทผู้ออกจำหน่ายเหรียญดิจิทัลจะเป็นผู้กำหนดราคาของเหรียญอ้างอิงจากเงินดิจิทัลสกุลใดสกุลหนึ่ง หรืออ้างอิงจากเงินกระดาษหรือเงินกระแสหลัก

อย่างไรก็ดี ผู้ถือครองเหรียญดิจิทัลที่เป็นที่นิยมและได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนรายอื่น อาจเก็งกำไรด้วยการซื้อขายเหรียญดิจิทัลดังกล่าวในตลาดลำดับรองที่รับซื้อขายทั้งเงินและเหรียญดิจิทัล

ซึ่งในประเทศไทยเริ่มมีผู้ให้บริการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนที่ถือครองเหรียญดิจิทัลและประสงค์ที่จะซื้อหรือขายเหรียญดิจิทัลในความครอบครองบ้างแล้ว

การทำ ICO ได้รับความนิยม เพราะเป็นวิธีการระดมทุนโดยไม่ต้องพึ่งเงินลงทุนจาก Venture Capitals หรือ VCs (บริษัทหลักทรัพย์จัดการเงินร่วมลงทุน) ซึ่งมักทำให้ผู้ก่อตั้งเสียอำนาจการควบคุมบริษัทไป จากการออกหุ้นเพิ่มเพื่อรองรับการลงทุนของ VCs หรือแม้แต่การทำ IPO เองก็มีค่าใช้จ่ายสูง

ในประเทศไทยเริ่มมีการระดมทุนด้วยการทำ ICO โดยผู้บุกเบิกเจ้าแรกคือ บริษัท JFIN ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ JMART ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประกาศระดมทุนด้วยการออก JFIN coin เป็นรายแรกของประเทศไทย

โดยให้เห็นผลของการระดมทุนว่า ต้องการนำเงินมาพัฒนาระบบปล่อยสินเชื่อด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน เป็นต้น

สำหรับตอนต่อไป ผู้เขียนขอเล่าถึงคุณสมบัติความเป็น “เงิน” หรือ “moneyness” ของเงินดิจิทัล โดยเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างกับเงินกระดาษ (fiat money) ซึ่งออกและรับรองโดยรัฐ รอติดตามกันนะครับ