วันเริ่มต้นฤดูแล้งปี”61

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเรื่อง การเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทยในปี 2561 ระบุ ประเทศไทยได้สิ้นสุดฤดูหนาวและเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา โดยอุณหภูมิสูงสุดบริเวณประเทศไทยตอนบนได้สูงขึ้นเกือบทั่วไป และมีอากาศร้อนในตอนกลางวันอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมประเทศไทยได้เปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงใต้ 

หรือลมฝ่ายใต้พัดปกคลุม ซึ่งเป็นการเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศแล้ว โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ฤดูร้อนปีนี้จะสิ้นสุดลงในกลางเดือนพฤษภาคม 2561 หรืออีกประมาณ 2 เดือนครึ่ง

ในขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเองก็ได้รายงานสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ พบจุดความร้อนสะสมมากกว่า 270 จุด ในพื้นที่จังหวัดตาก-เชียงใหม่ และเชียงราย และเร่งจัดชุดเฝ้าระวังไฟป่าที่จะมาจากความแห้งแล้งในพื้นที่ที่เกิดขึ้น จากการเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนของปีนี้แล้ว

ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ได้ว่า สถานการณ์มลพิษจากหมอกและควัน-ไฟป่าจะกลับมารุนแรงอีกครั้งในปีนี้ เนื่องจากการเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูแล้งมาเร็วตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2561

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานในฐานะหน่วยงานหลักที่บริหารจัดการน้ำทั่วประเทศก็ได้เตรียมแผนการจัดสรรน้ำสำหรับฤดูร้อนปีนี้ไว้แล้ว โดย ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 (เริ่มต้นปีน้ำ) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีปริมาณน้ำต้นทุนสามารถใช้การได้ 36,115 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 76 ของความจุอ่างรวมกัน

เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาใน 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล-เขื่อนสิริกิติ์-เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำใช้การได้ 14,187 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 78 (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้เพียง 9,704 ล้าน ลบ.ม.) โดยปริมาณน้ำใช้การได้ 4 เขื่อนหลักล่าสุด ณ วันที่ 9 มีนาคม 2561 อยู่ที่ 9,707 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 53 สำหรับปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้สนับสนุนภาคการเกษตร ณ วันที่เริ่มต้นฤดูแล้ง รวมทั้งประเทศจัดสรรไว้ 15,952 ล้าน ลบ.ม.

มีแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ดังนี้ ข้าว 8,351,625 ไร่ พืชไร่ 482,071 ไร่ พืชผัก 220,370 ไร่ พืชอื่น ๆ 4,690,459 ไร่ รวมทั้งสิ้น 13,744,524 ไร่ เฉพาะในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำที่ใช้ในภาคการเกษตรรวม 5,110 ล้าน ลบ.ม. วางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไว้เป็น ข้าว 5,170,572 ไร่ พืชไร่ 36,010 ไร่ พืชผัก 25,501 ไร่ พืชอื่น ๆ 1,025,151 ไร่ รวมพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา 6,257,234 ไร่

ในช่วงฤดูแล้งปี 2560/2561 ลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้วางแผนจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทานรวม 14,187 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น การใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง (1 พ.ย. 60-30 เม.ย. 60) จำนวน 7,700 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็น การใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 1,140 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 1,450 ล้าน ลบ.ม. และการเกษตร 5,110 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่เหลืออีก 6,487 ล้าน ลบ.ม. จะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2561

ส่วนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2561 ของลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น กรมชลประทานคาดการณ์ว่า ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 จะเหลือปริมาณน้ำใช้การได้ ประมาณ 7,862 ล้าน ลบ.ม. สามารถสนับสนุนการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศได้ วันละประมาณ 18 ล้าน ลบ.ม. โดยจะส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 1 (นาปี) ในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ประมาณ 383,000 ไร่

ให้เริ่มทำนาปีได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 ส่วนพื้นที่ดอน 1.80 ล้านไร่ ให้เริ่มเพาะปลูกเมื่อฝนตกแล้ว ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้ง 12 ทุ่ง รวม 1.15 ล้านไร่

กรมชลประทานจะส่งน้ำให้เกษตรกรเริ่มทำนารอบที่ 1 (นาปี) ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2561


เมื่อดูจากปริมาณน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำหลัก ๆ ของประเทศ กับแผนการจัดสรรน้ำของกรมชลประทานแล้วเชื่อว่า ประเทศไทยจะผ่านพ้นสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ไปได้