ตอบโจทย์ “โรงแรมไทย” ลงทุนให้เห็นผลอย่างยั่งยืน

โรงแรมไทย
คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยคิด
ผู้เขียน : ดร.กิ่งกาญจน์ เกษศิริ, ชุติกา เกียรติเรืองไกร
      ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.

การประชุมกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด คณะกรรมการประเมินว่า หนึ่ง ในเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้คือ “ภาคการท่องเที่ยว” ที่กลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ อยู่ที่ 28 ล้านคน ในปี 2566 และ 35 ล้านคน ในปี 2567 แต่ธุรกิจโรงแรมซึ่งเป็นหัวใจหลักของภาคการท่องเที่ยวดูเหมือนยังเปราะบาง

ผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม ที่ร่วมจัดทำโดยสมาคมโรงแรมไทย และ ธปท. สะท้อนให้เห็นว่า แม้อัตราการเข้าพักแรมจะฟื้นตัว แต่ร้อยละ 60 ของโรงแรมที่ตอบแบบสำรวจยังมีอัตรากำไรสุทธิในปัจจุบันต่ำกว่าช่วงก่อน COVID-19 ขณะที่มีเพียงร้อยละ 8 ที่สามารถทำกำไรได้ดีกว่า ส่งผลให้ธุรกิจนี้ยังกลับมาลงทุนไม่เต็มที่ เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ๆ

ที่ผ่านมาหลายคนประเมินว่า COVID-19 จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวให้เดินทางเป็นกลุ่มเล็กลง และ new normal ของการท่องเที่ยวจะปรับจากกลุ่ม mass เป็น niche มากขึ้น เช่น ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กลุ่มรักษ์โลก และ workcation เป็นต้น ซึ่งไทยก็คาดหวังที่จะเจาะตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพกลุ่มนี้เช่นกัน หากจะเท่าทันเทรนด์ดังกล่าว โรงแรมไทยคงต้องลงทุน

เพื่อปรับเปลี่ยนให้ตอบรับกับความต้องการของนักท่องเที่ยวเหล่านี้ โดยผลสำรวจพบว่าโรงแรมที่มีแผนจะลงทุนในปีนี้เกือบทั้งหมดเน้นการลงทุนเพื่อปรับปรุงหรือซ่อมแซมห้องพักเป็นหลัก ซึ่งหากเป็นการปรับโฉมห้องพักเพื่อรองรับตลาดใหม่ ๆ ก็เป็นที่น่ายินดี

แต่หากเป็นเพียงการซ่อมแซมเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวที่ทยอยเข้ามา อาจไม่ตอบโจทย์ระยะกลาง-ยาว ที่มองหานักท่องเที่ยวคุณภาพ และต้องการก้าวข้ามการแข่งขันด้านราคา ผู้เขียนจึงอยากชวนคิดว่า การลงทุนแบบใดจะ transform การท่องเที่ยวไทย และช่วยสร้างกำไรให้ธุรกิจโรงแรมอย่างยั่งยืนในอนาคตได้ด้วย

การลงทุนปรับปรุงสถานที่และบริการเพื่อสร้างจุดขาย รองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูง

1) กลุ่ม medical and wellness ที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและดูแลตนเอง โดยมีบริการ wellness center และอาหารเพื่อสุขภาพ

2) กลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีกำลังซื้อและเวลา โดยปรับปรุงและออกแบบห้องพักและสถานที่ภายในโรงแรมให้เหมาะกับผู้สูงอายุ เช่น ปรับพื้นที่รองรับการใช้รถเข็น ติดตั้งราวจับในห้องน้ำ รวมถึงมีกิจกรรมเพื่อการพักผ่อนที่เหมาะสม

3) กลุ่ม digital nomads จากกระแส work from anywhere ควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการทำงาน เช่น อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และเครื่อง printer พร้อมบริการ หรือปรับปรุงพื้นที่ส่วนกลางให้เป็น co-working space

4) กลุ่มรักษ์โลก โดยปรับปรุงห้องพักและบริการให้เป็น eco-friendly เช่น ใช้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิล ติดตั้ง solar roof ระบบจัดการน้ำและขยะ เพื่อตอบรับกระแสความยั่งยืนที่กำลังมาแรง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวยุโรป ซึ่ง online travel agency เริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นและให้ใบรับรองเพื่อเปิดโอกาสให้เข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น และ 5) กลุ่มท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาจมีการร่วมมือกับชุมชนใกล้เคียงปรับเปลี่ยนพื้นที่รกร้างแห้งแล้งให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือสถานที่เรียนรู้ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมในท้องถิ่น

การลงทุนนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

ลงทุนระบบ digital เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก และบรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงาน เช่น check-in ผ่านระบบออนไลน์ ติดตั้งระบบ self-check in ห้องพักแบบ keyless entry ผ่านสมาร์ทโฟน และหุ่นยนต์ต้อนรับ หรือช่วยขนย้ายกระเป๋าเดินทาง

โรงแรมใดที่มีใจพร้อมจะปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่าน และต้องการทุนทรัพย์ โดยเฉพาะ SMEs สินเชื่อเพื่อการปรับตัว (transformation loan) เป็นหนึ่งในมาตรการที่จะเข้ามาช่วยเหลือเพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจ ภายใต้กิจกรรมการลงทุน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) กระแสดิจิทัลเทคโนโลยี 2) การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 3) นวัตกรรมแห่งโลกอนาคต

ส่วนโรงแรมใดที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ยังสามารถขอสินเชื่อฟื้นฟูได้เช่นเดียวกัน หากสนใจสามารถติดต่อสอบถามที่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ถึง เม.ย. 67 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงินของมาตรการ

เมื่อโรงแรมไทยสามารถขยายด้านการลงทุนนอกเหนือจากการลงทุนรูปแบบเดิม โอกาสในการสร้างรายได้และกำไรจะไม่ถูกจำกัดอีกต่อไป จะส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวไทยเติบโตอย่างแข็งแรงและมีคุณภาพยิ่งขึ้น