คดีเสือดำสังเวย คะแนนจริยธรรมบิ๊ก ITD

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย วิไล อักขระสมชีพ

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา คดีอื้อฉาวทั้งเรื่องฆ่าเสือดำ บุกรุกตั้งแคมป์ในพื้นที่ต้องห้ามในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร การติดสินบนเจ้าพนักงานของนายทุนใหญ่ “นายเปรมชัย กรรณสูต” ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และในฐานะกรรมการและกรรมการผู้จัดการของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้ถูกสังคมจับจ้องการปฏิบัติหน้าของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ดำเนินคดี เพื่อมาถึงจุดฟ้องร้องในขณะนี้หลายข้อหาแล้ว

ท่ามกลางกระแสสังคมที่กดดันหนักหน่วงต่อตัว “นายเปรมชัย” ณ วันนี้ได้บินออกนอกประเทศไปแล้วเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ตำรวจเพิ่งจะฟ้องร้องดำเนินคดีในวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา

บริษัทอิตาเลียนไทยฯ ถือเป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่ตัวหนึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัทนี้ก็ได้มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับบรรษัทภิบาลของบริษัท ไว้ให้คณะกรรมการและผู้บริหาร พนักงานปฏิบัติตาม ซึ่งเขียนไว้ละเอียดและชัดเจนให้ประพฤติปฏิบัติ โดยหนึ่งในหัวข้อ จริยธรรมธุรกิจและจรรยาบรรณของผู้บริหารต่อสังคมส่วนรวม คือ “ไม่กระทำการใด ๆ ที่จะมีผลเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพแวดล้อม” ดูจะยิ่งสะท้อนถึงการประพฤติปฏิบัติของนายเปรมชัย ซึ่งถือเป็นผู้บริหารเบอร์หนึ่งของบริษัทอิตาเลียนไทยฯ

กรณีที่เกิดขึ้นของนายเปรมชัย ซึ่งเป็นทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นผู้บริหารคนสำคัญด้วย อีกทั้งยังเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯด้วยแล้ว ก็ย่อมต้องมีความรับผิดชอบและประพฤติปฏิบัติตามที่กำหนดบรรษัทภิบาล จริยธรรม จรรยาบรรณของบริษัทด้วย มิใช่หรือ

และเมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งที่ผ่านมาได้ผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย และผู้บริหาร กำหนดกรอบการปฏิบัติเกี่ยวกับบรรษัทภิบาล หรือธรรมาภิบาล และจริยธรรมการปฏิบัติที่เหมาะสม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กร รวมไปถึงการให้รางวัลแก่บริษัทที่มีธรรมาภิบาลดีเด่น ซึ่งก็ได้ให้ความคิดเห็นน่าสนใจ ดังนี้

เนื่องจากคนไทยและบริษัทไทยเราจะไม่ strong ในเรื่องธรรมาภิบาลพวกนี้ โดยเฉพาะในเชิงวิธีทำงาน เพราะเราจะทำอะไรกันแบบที่เรียกว่า “ลูกทุ่ง” กว่าฝรั่งที่ค่อนข้างจะมีสตรอง ขณะที่สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯผลักดันให้ทำ จะเป็นการวาง “ไกด์ไลน์” ให้บริษัทจดทะเบียนเอาไปใช้ เพื่อกำหนดกรอบปฏิบัติว่าอะไรที่ควรทำ หรืออะไรที่ทำได้บ้าง เพื่อจะเกิดประโยชน์ต่อตัวบริษัทนั้น ๆ ในการดำเนินงานตามมา และจะทำให้องค์กรนั้นอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในวันข้างหน้า

“แต่ว่าสิ่งที่ท้าทาย คือ เขา (ผู้บริหารบริษัท) เอาไปทำจริงหรือเปล่า หรือว่าทำได้แค่ไหน อย่างไร ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเชื่อว่า หลายบริษัทเอาไปทำจริง และได้ผลจริงกับตัวบริษัท และสิ่งที่จะดีที่สุด คือ ไม่ใช่ว่าเขียนเพราะถูกสั่งให้เขียน หรือเขียนเพราะอยากได้รางวัลเอาไปตั้งไว้ เพราะมันไม่ได้มีประโยชน์กับใคร แต่สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯอยากเห็น คือ เขาได้ไปทำจริง แล้วได้ประโยชน์กับบริษัทเขาจริง ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายั่งยืน และจะทำต่อ ๆ ไป”

พร้อมกับชี้ว่า สิ่งที่ยากและท้าทาย คือ จะหมุนจากสิ่งที่ได้มีการเริ่มต้น (ของธรรมาภิบาล) นี้อย่างไร และจะทำสิ่งนี้ให้เป็น “เรื่องปกติ” ในชีวิต ไม่ใช่ทำเพราะเป็นเรื่องที่ ก.ล.ต. กับตลาดหลักทรัพย์ฯ อยากให้เห็น และตอนนี้สังคมก็เริ่มท้าทายหลาย ๆ อย่างแล้ว จะเห็นได้จากบางกรณีที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดปฏิกิริยาของคนในสังคมที่สะท้อนให้เห็นว่า เรากำลังไปในแนวทางเดียวกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสือดำ หรือเรื่องอะไร

เมื่อถามว่า จำเป็นต้องวางกฎเกณฑ์เพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ ผู้จัดการ ตลท.บอกว่า บ้านเมืองเรากฎเกณฑ์เยอะขึ้นแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้น (หากเป็นการทำผิด) จะเป็นเรื่องของการลงโทษมากกว่า ซึ่งเราไม่มีเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่กระแสสังคมก็จะลงโทษเอง ซึ่งก็ดี แต่บางทีกระแสสังคมก็เป็นเพียงกระแสเท่านั้น เพราะ norm ของบ้านเรา ไม่ค่อย anti คนที่ทำไม่ดีอย่างชัดเจนนัก


แม้การดำเนินคดีเสือดำของนายเปรมชัยและพวกยังไม่จบ แต่ก็เห็นคะแนนจริยธรรมที่สอบตกแล้ว