ปัญญาประดิษฐ์ กับ Dilemma ของการกำกับดูแลโลกในอนาคต

หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์
คอลัมน์ : ระดมสมอง
ผู้เขียน : ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
Facebook : Narun on Fintech Law


เมื่อวันอังคารที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเทคโนโลยีพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือ artificial intelligence (AI) หลายบริษัทร่วมกันลงนามในหนังสือถึงรัฐบาลของประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งสารเตือนว่า หากรัฐบาลไม่เข้ามากำกับดูแลการพัฒนาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้โดยเร็ว อาจมีผลกระทบร้ายแรงถึงขนาดเป็นต้นเหตุให้มนุษยชาติถูกทำลายล้างจนสูญพันธุ์ก็เป็นได้

ในจำนวนผู้ลงนามกว่า 350 คน มีผู้บริหารสูงสุดของ OpenAI เจ้าของและผู้พัฒนา ChatGPT ซึ่งเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในบ้านเรา และเป็นบริษัทที่มีบริษัทซอฟต์แวร์ระดับโลกอย่างไมโครซอฟท์ให้การสนับสนุน นอกจากนั้นยังมี Google DeepMind และ Anthropic ทั้งสองบริษัทเป็นผู้พัฒนา AI จากค่ายกูเกิล ทำให้เห็นว่าการออกแถลงการณ์เปิดผนึกถึงรัฐบาลสหรัฐในครั้งนี้มีความน่าสนใจ

นอกจากจะเพราะได้รับการสนับสนุนจากทั้งบริษัท startup และบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติขนาดใหญ่ รวมถึงนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกแล้ว ยังเป็นแถลงการณ์ที่มีความยาวเพียงแค่ 1 ประโยค ดังนี้

“Mitigating the risk of extinction from A.I. should be a global priority alongside other societal-scale risks such as pandemics and nuclear war.”

ความน่ากลัวของ AI เกิดจากความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองของระบบ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในขณะนี้คือ ความเสี่ยงในการนำ AI ที่มีความสามารถในการสร้างบทสนทนา และสังเคราะห์ข้อมูลได้จากฐานข้อมูลที่มีในลักษณะคล้ายกับการใช้ภาษาของมนุษย์ (large language model-LLM) มาใช้เพื่อเผยแพร่ข่าวเท็จหรือปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มบุคคลหรือระหว่างประเทศ

นอกจากความเสี่ยงดังกล่าวแล้ว การใช้ AI เพื่อให้สนับสนุนการผลิตสินค้าหรือบริการแทนการจ้างลูกจ้างที่เป็นมนุษย์โดยไม่มีแผนการบริหารจัดการการเปลี่ยนผ่านอย่างรอบคอบ อาจทำให้เกิดการเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก เนื่องจากเป็นแรงงานที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่าการใช้ AI ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมและเศรษฐกิจในประเทศได้ในระยะยาว

นักวิชาการและนักเทคโนโลยีเริ่มพูดถึงการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า ระบบปัญญาประดิษฐ์เสมือนมนุษย์ (artificial general intelligence-AGI) ซึ่งมีความสามารถเทียบเท่าหรือดีกว่ามนุษย์ โดยเฉพาะความสามารถในการให้เหตุผล วางแผน เรียนรู้ สื่อสารด้วยภาษามนุษย์ และมีอารมณ์ร่วม รวมถึงความสามารถในการสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น ได้ยิน และกระทำการ เช่น การขยับตัวเพื่อเข้าหาหรือหลบเลี่ยงสิ่งของ เป็นต้น

หากนึกภาพไม่ออกว่า AGI คืออะไร อยากให้ท่านผู้อ่านลองหาเวลาว่างกลับไปดูภาพยนตร์ Sci-Fi คลาสสิกหลายเรื่องเลยครับ จะพบว่ามีตัวละครเป็น AI ที่มีบทบาทสำคัญต่อสวัสดิภาพของตัวละครหลัก เช่น HAL9000 ในเรื่อง Space Odyssey หรือ Ava ในเรื่อง Ex Machina หรืออาจเป็นสาเหตุของการล่มสลายของสังคมมนุษย์ในภาพยนต์เรื่องนั้น เช่น Skynet ในภาพยนตร์ซีรีส์ Terminator

ความเสี่ยงเฉพาะหน้าและที่กำลังจะมาถึงดังกล่าวทำให้กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องออกมาเรียกร้องให้มีการกำกับดูแลโดยหน่วยงานรัฐของแต่ละประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาคมโลก และมีการเสนอแนวทางกำกับดูแลในหลายรูปแบบ

ตั้งแต่การสร้างแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนความร่วมมือระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา AI. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแข่งขันในตลาดมากจนไม่สามารถควบคุมผลลัพธ์ของการพัฒนาเทคโนโลยีได้ ไปจนถึงการเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ร่วมกันออกกฎหมายเพื่อยับยั้งการพัฒนาเทคโนโลยี AI เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อร่วมกันจัดทำข้อตกลงที่จะไม่สร้าง AI ที่เป็นอันตรายต่อบุคคล หรือต่อมนุษยชาติ

การกำกับดูแลของภาครัฐ โดยเฉพาะในเรื่องที่ภาคเอกชนออกมาแสดงความต้องการให้มีการเข้าแทรกแซง เป็นเรื่องที่ต้องคิด วางแผน และกระทำอย่างรอบคอบ ไม่แพ้การออกแบบการกำกับดูแลตลาดหรือระบบเศรษฐกิจที่ภาคเอกชนไม่เห็นความสำคัญของการกำกับดูแล

เพราะโดยทั่วไปแล้ว การปฏิบัติตามกฎหมาย หรือกฎระเบียบ เป็นต้นทุนประเภทหนึ่งทางธุรกิจ ดังนั้นในมุมมองของภาคเอกชน การลดต้นทุน ซึ่งรวมถึงการลดต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎหมาย หรือกฎระเบียบด้วย ควรจะเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ต้องการ อย่างไรก็ดี การที่ภาคเอกชนออกมาเรียกร้องให้มีการเพิ่มต้นทุนในการประกอบธุรกิจด้วยการยอมให้รัฐเข้ามามีส่วนในการกำกับดูแลการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์และการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ อาจอธิบายได้ด้วยเหตุผลสองประการ

ประการแรก ภาคเอกชนอาจเห็นพ้องต้องกันว่า การพัฒนาทางเทคโนโลยีและทางเศรษฐกิจในเรื่องนี้มีต้นทุนทางสังคมที่ตนไม่สามารถจัดการได้ด้วยตนเอง เช่น ปัญหาเรื่องการแข่งขันที่สูงเกินไป ทำให้ผู้ประกอบการไม่สนใจผลกระทบต่อผู้บริโภคและสังคม (over-competition problem) ปัญหาด้านการสร้างความร่วมมือเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนา (coordination problem) หรือความเสี่ยงที่เกิดจากความไม่รู้และไม่มีระบบรองรับความผิดพลาดที่ดีเพียงพอ (lack of fail-safe mechanism) เป็นต้น

ประการที่สอง การออกมาเรียกร้องให้มีการกำกับดูแล โดยเฉพาะการเรียกร้องของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีอำนาจต่อรองในตลาดสูง อาจเป็นไปเพื่อต้องการรักษาสถานะและความสามารถในการแข่งขันของตน ด้วยการกดดันให้รัฐออกกฎระเบียบ เพื่อเพิ่มต้นทุนการประกอบธุรกิจให้แก่ผู้เล่นรายใหม่ (barrier to entry)

ดังนั้น รัฐจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนการออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแลตลาด หรือระบบเศรษฐกิจจากการเชื้อชวนของภาคเอกชนว่า อะไรคือเจตนาที่แท้จริงของคำเชิญให้มีการกำกับดูแลดังกล่าวกันแน่ ?

สำหรับเรื่องการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI นั้น การเรียกร้องให้มีการกำกับดูแลไม่ใช่เรื่องที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันเสมอไป หากกลับไปดูรายชื่อของผู้ที่ลงนามในหนังสือถึงรัฐบาลสหรัฐข้างต้น จะพบว่ามีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ลงทุนพัฒนา AI เป็นจำนวนเงินมากที่สุดบริษัทหนึ่งที่ไม่ได้ลงชื่อสนับสนุนแนวทางดังกล่าว

บริษัทนั้นได้แก่ เมต้า (Meta) หรือเฟซบุ๊กเดิมนั่นเอง แทนที่จะร่วมเรียกร้องให้มีการกำกับดูแล เมต้ากลับเลือกแนวทางการเปิดเผยเทคโนโลยีของตน (Horizon RL platform) ให้เป็นเทคโนโลยี open-sourced เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พัฒนา AI ทั่วโลกสามารถร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีต่อไปได้บนพื้นฐานของเทคโนโลยีของบริษัท

แนวทางดังกล่าวแตกต่างจากการเรียกร้องให้มีการกำกับดูแล หรือมีการพัฒนาเทคโนโลยี AI ด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เทคโนโลยีดังกล่าวตกไปในมือของผู้ไม่หวังดีที่สามารถนำเทคโนโลยีไปใช้เพื่อทำลายล้างสังคมหรือเศรษฐกิจได้

สำหรับประเทศไทย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราสามารถร่วมติดตามและศึกษาแนวทางการพัฒนากลไกการกำกับดูแลหรือแนวทางด้านธรรมาภิบาล (governance) ไปกับประชาคมโลกได้ โดยไม่จำเป็นต้องรีบร้อนตัดสินใจว่าเราต้องการที่จะออกกฎเกณฑ์กำกับดูแล หรือต้องการกระตุ้นให้ภาคเอกชนร่วมกันหาแนวทางการประกอบธุรกิจที่ยั่งยืนด้วยตัวเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากลองมองย้อนกลับไปถึงกฎหมายหลายฉบับที่เคยออกมาเพื่อจุดประสงค์ที่ต้องการสนับสนุนเศรษฐกิจ แต่กลับส่งผลเป็นการยับยั้งนวัตกรรมและการเติบโตของผู้ประกอบการขนาดเล็กแล้ว ยิ่งเป็นเหตุผลสนับสนุนว่า ในเรื่องนี้ เราควรที่จะยึดถือสุภาษิตไทย “ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม” ครับ