เมื่อ “การเลือกตั้ง” ไม่ดันยอดปิกอัพ

เลือกตั้ง
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : วุฒิณี ทับทอง

หลังตัวเลขยอดขายรถยนต์ในเดือนเมษายนประกาศออกมา

บรรดาค่ายรถยนต์ต่าง ๆ โดยเฉพาะค่ายที่มีรถ “ปิกอัพ” หัวหอกสำคัญในการขับเคลื่อนยอดขายต่างตกอยู่ในอาการคล้าย “คนอกหัก”

คิดไม่ออกบอกไม่ถูก…(คงประมาณนั้น)

ทั้งที่วาดฝัน ความหวัง ว่ายอดขายในช่วงก่อนมีการเลือกตั้ง (มี.ค.-เม.ย.) ยอดขายปิกอัพจะกลับมาดี โดยมีปัจจัยบวกที่เป็นแรงส่งสำคัญ

แต่ปรากฎว่ายอดขายทั้ง 2 เดือน หดตัวอย่างน่าตกใจ

ด้วยตัวเลขแค่ 59,530 คัน ลดลง 6.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ตลาดปิกอัพ ชะลอตัวเช่นเดียวกัน แต่ลดลงในอัตราที่มากกว่า ร่วงไปถึง 8.4% มียอดขายแค่ 39,327 คันเท่านั้น

นี่ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ของการ “เลือกตั้ง” ที่ไม่ส่งผลกับยอดขายรถปิกอัพ

มันเกิดอะไรขึ้น?

“ศุภกร รัตนวราหะ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มองประเด็นหลักที่ทำให้ตลาดปิกอัพชะลอตัว เป็นผลมาจากการชะลอการตัดสินใจซื้อของภาคธุรกิจ และภาคประชาชนในช่วงก่อนการเลือกตั้ง

และยังเชื่อว่าในเดือน พ.ค.ก็ยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง

ความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงของการเลือกตั้ง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการชะลอการตัดสินใจซื้อ

และที่ต้องไม่ลืม คือความเข้มงวดของสถาบันการเงิน ต่างมีผลมากกับการปล่อยสินเชื่อ แต่อีกสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือรูปแบบการหาเสียง ที่เปลี่ยนไปเกือบสิ้นเชิง

ภาพของการใช้รถปิกอัพเพื่อการหาเสียง ยังมีให้เห็นอยู่บ้างประปราย ไม่ว่าจะเป็น “รถแห่หรือรถหาเสียง”

แต่กลยุทธ์หลักที่บรรดาพรรคการเมืองนำมาใช้ในการขับเคลื่อน

คือแพลตฟอร์ม ออนไลน์

ที่ยิงตรงเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และยังกระจายได้ในวงกว้าง

ที่สำคัญสะดวกและประหยัดกว่ามาก

จากข้อมูลของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ที่เก็บข้อมูลและวิเคราะห์จากการฟังเสียงประชาชนในสังคมออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม DXT360 ระหว่างวันที่ 16 เมษายน – 15 พฤษภาคม 2566 พบว่า

TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่มีการพูดถึงและการมีส่วนร่วมสูงสุดด้วยจำนวน 186,393,775 ครั้ง หรือคิดเป็น 63% ของโซเชียลมีเดียทั้งหมด

ตามมาด้วย “Facebook” และ “Twitter” ในอันดับ 2 และ 3 ส่วน “Instagram” และ “Youtube” อยู่ในอันดับ 4 และ 5

คงไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า “ยอดขายปิกอัพ” ที่หลายค่ายรถยนต์คาดหวังว่า ปัจจัยจากการมีเลือกตั้ง น่าจะเป็นแรงส่งสำคัญต่อ ยอดขาย

และกระแสนี้ยังใช้ได้อยู่ต่อไปมั้ย

คงต้องรอดูการเลือกตั้งในครั้งต่อๆไป

ซึ่งหลายคนบอก อาจจะมาในช่วงเวลาอันใกล้


แต่ส่วนอาการ “อกหัก” ครั้งนี้ของบรรดาค่ายรถยนต์ มีเวลาให้ค่ายรถยนต์กลับมา “ฮีลใจ” แล้วไปต่อ เพราะตัวเลขที่ไล่หลังยังเป็นเป้าหมายให้ทุกค่ายต้องงัดกลยุทธ์ทางการตลาด รบรุกกันต่อไป