ต้องมี “ความรู้” ก่อน “ความโลภ”

คอลัมน์สามัญสำนึก

โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

คำนี้อาจไม่ใช่คัมภีร์ความสำเร็จของมหาเศรษฐี แต่ถือเป็นคัมภีร์สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการตกเป็นเหยื่อ หรือแมงเม่าเช่น เรื่องการลงทุนเรื่องเงินดิจิทัล (cryptocurrency) และการระดมทุน ICO (initial coin offering) ที่กำลังเป็นเทรนด์ที่นักลงทุนทั่วโลกสนใจ ทั้งที่คนจำนวนมากยังไม่เข้าใจว่าคืออะไรกันแน่

โดยผลสำรวจจาก Knight Frank ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก ทำรายงานเกี่ยวกับความมั่งคั่งระบุว่า ปีที่ผ่านมาเศรษฐีทั่วโลกนิยมลงทุนในบิตคอยน์ รวมถึงเงินคริปโตฯสกุลอื่น ๆ มากขึ้น ทั้งที่หลาย ๆ คนก็ไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดในเรื่องคริปโตฯ

ที่สำคัญคือความเสี่ยงของคริปโตฯและไอซีโอ ไม่ใช่แค่ความเสี่ยงจากการลงทุนเท่านั้น แต่เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้คริปโตฯ หรือไอซีโอ มาเป็นเครื่องมือหลอกลวง จูงใจด้วยตัวเลขผลตอบแทนสูงหลายเท่าตัวเป็นตัวล่อ ทั้งที่ไม่รู้ว่าคริปโตฯนั้นไปใช้ทำอะไร หรือโครงการระดมทุน ICO จะสร้างผลตอบแทนได้แค่ไหน

เพียงแค่คิดว่าคริปโตฯมีโอกาสจะราคาพุ่งขึ้นไป เช่นเดียวกับบิตคอยน์

กระทั่งกลายเป็นช่องทางในการหลอกลวงชักจูงลงทุนที่มาในลักษณะคล้ายแชร์ลูกโซ่ รวมทั้งในประเทศไทยที่มีการใช้โมเดลขายตรงแบบ MLM ออกอาละวาด ชักชวนนักลงทุนและนักธุรกิจไทยลงทุนคริปโตฯสกุลต่าง ๆ โดยอาศัยช่วงโหว่และสุญญากาศกฎหมาย

ถึงขั้นมีการเปิดคอร์สอบรมชักชวนทั้งในกรุงเทพฯและหัวเมืองต่างจังหวัด ทำให้กระแสลงทุนในคริปโตเคอเรนซี่ระบาดไปทั่วประเทศ

รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ผนึกกำลังเร่งทำคลอดกฎหมายใหม่เพื่อมากำกับดูแล

ด้วยมาตรการกำกับดูแลเพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูล และตัวตนของผู้เกี่ยวข้องในทุกระดับชั้น

รวมถึงการจัดเก็บภาษีในทุกขั้นตอน ทั้งภาษี หัก ณ ที่จ่าย-ภาษีมูลค่าเพิ่ม-ภาษีกำไร/เงินปันผล และปลายปีให้นำไปรวมเพื่อคำนวณภาษีด้วย เรียกว่าไล่บี้ตลอดเส้นทาง

โดยที่ “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่าที่มีการไล่เก็บภาษีเช่นนี้ เพราะ “เราไม่ส่งเสริม” การลงทุนดังกล่าว

และสิ่งที่รัฐบาลทำ คือการควบคุมผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยกำหนดให้ผู้เกี่ยวข้องในการเป็นโบรกเกอร์ หรือเป็นตลาดซื้อขาย ต้องมีการขอใบอนุญาต รวมทั้งระบบการยืนยันตัวตน (KYC) ของลูกค้าที่จะมาซื้อขาย และที่สำคัญ คือ ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษทั้งจำและปรับ

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ขอให้ผู้ที่เข้ามาทำธุรกรรมต้องรายงานด้วยว่า “เอาเงินมาจากไหน” เพื่อที่จะได้รู้ถึงเส้นทางเงิน

โดยทั้งหมดจะออกเป็น พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับ คือ พ.ร.ก.การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. …. และ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล) ภายในเดือนมีนาคมนี้

อย่างไรก็ตาม ทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นเพียงเกราะป้องกันภายนอก แต่หัวใจสำคัญของการลงทุน คือ ต้องมีความรู้และเข้าใจในเรื่องดังกล่าว และเข้าใจถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นด้วย

ไม่ใช่มองแต่โอกาสที่จะได้จากการลงทุน เหมือนกลัวตกรถไฟแล้วกระโดดขึ้นไป โดยไม่รู้ว่ารถไฟไปไหน หรือแค่มีคนบอกว่าดี

และต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า การลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง เสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย แล้วเรารับได้แค่ไหน