บทบรรณาธิการ : เงินเฟ้อชะลอตัว ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25%

เงินเฟ้อสหรัฐ กุมภาพันธ์ 2666
Yuki IWAMURA / AFP
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้การรายงาน “ดัชนี” สำคัญ ๆ หลายตัว ไม่ว่าจะเป็น ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (เงินเฟ้อ) ของกระทรวงพาณิชย์ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนพฤษภาคมเท่ากับ 107.19 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นเพียง 0.53% เป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และเงินเฟ้อเดือนนี้เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (เมษายน 2566) ลดลง 0.71%

สาเหตุสำคัญที่อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้า รวมทั้งราคาสินค้าในหมวดอาหารชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ชะลอตัวค่อนข้างมาก

โดยอัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนเมษายน 2566) พบว่าประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ทั้ง สปป.ลาว, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และเวียดนาม

สำหรับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 3.99% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าผักและผลไม้ ไข่ไก่ ส่วนหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลง 1.83% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 40.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 39.5 ในเดือนเมษายน และเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 39 เดือน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ก็ปรับตัวดีขึ้นมาทุกรายการ หรืออยู่ที่ระดับ 50.2 52.8 64.2 ตามลำดับ (เดือนเมษายนอยู่ที่ 49.4 52.0 63.6)

โดยดัชนีราคาผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง ทำให้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2566 จะชะลอตัวต่อเนื่อง หรืออาจจะ “หดตัวลงได้” ตามการลดลงของราคาในกลุ่มพลังงาน (น้ำมัน) และได้รับอนิสงส์จากมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของรัฐบาล


สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ที่ผู้บริโภคเริ่มเห็นว่าเศรษฐกิจกำลังปรับตัวดีขึ้น การท่องเที่ยวฟื้นตัว มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น ที่สำคัญน้ำมันเชื้อเพลิงมีการปรับลดราคาลง แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ยังคงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% หรือจาก 1.75% เป็น 2.00% ต่อปี แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง