แก้โจทย์ราคายาง – แก้ปัญหา กยท.


บทบรรณาธิการ

น่าจะมีหลายเหตุผล ไม่ใช่แค่เสียงเรียกร้องของสภาเครือข่ายยางสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2561 ให้ นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ โดยยังไม่พ้นจากตำแหน่งเดิม เมื่อ 20 มี.ค. 2561

เพราะนอกจากไม่สามารถแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยราคายางในตลาดโลกแล้ว ส่วนหนึ่งที่ยางราคาดิ่งเป็นเพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปล่อยให้ผู้ส่งออก พ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อ ที่ผ่านมากระแสข่าวผู้ว่าการการยางฯ จะถูกปลดออกจากเก้าอี้จึงมีออกมาเป็นระยะ ๆ

แถมมีประเด็นโยงถึงการบริหารจัดการภายใน กยท.ในลักษณะไม่โปร่งใส ทั้งสั่งซื้อปุ๋ย ว่าจ้างเอกชนจัดเก็บค่าธรรมเนียมส่งออกยางพารา (เงินเซส) แม้แต่บอร์ด กยท.ก็ไม่พอใจที่ราคายางยังปรับลดลงต่อเนื่อง

ทั้งที่รัฐบาลออกสารพัดมาตรการมาช่วยเหลือ อาทิ รับซื้อยางเข้าเก็บสต๊อก ประกาศลดพื้นที่ปลูกยางโดยจ่ายเงินชดเชยให้ชาวสวนหันไปปลูกพืชอื่น สนับสนุนสถาบันเกษตรกร สหกรณ์ รับซื้อและแปรรูปยางพารา รวมทั้งผนึกกำลังกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ปลูกยางรายใหญ่รองจากไทยลดปริมาณการส่งออก ล่าสุด 22 มี.ค. ที่ผ่านมา ราคาซื้อขายยางแผ่นดิบอยู่ที่ 44 บาท/กก. ส่วนยางแผ่นรมควันชั้น 3 กก.ละ 49 บาท

จากนี้ไปคงต้องรอดูว่าผู้บริหาร กยท.ที่จะมาทำหน้าที่แทนนายธีธัช จะมีฝีมือในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบมากน้อยแค่ไหน จะพลิกสถานการณ์ราคายางพาราที่เวลานี้เรียกได้ว่าติดลบ เนื่องจากราคาซื้อขายต่ำกว่าต้นทุนการผลิตซึ่งอยู่ที่ 64 บาท/กก. ให้กลับมาเป็นบวกได้หรือไม่

ขณะเดียวกัน นอกจากต้องเร่งแก้โจทย์ยางราคาตกแล้ว แนวทางการทำงาน การบริหารจัดการภายในองค์กร กยท. ก็อาจต้องทบทวนปรับเปลี่ยนใหม่ ให้มีประสิทธิภาพเพียงพอในการพัฒนา และแก้ปัญหายางพาราทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นเอกภาพของ 3 หน่วยงานที่ถูกยุบรวมเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ กยท.ในปัจจุบัน มิฉะนั้นคงไม่สามารถตอบสนองเป้าหมายหลักในการจัดตั้งองค์กรแห่งนี้ได้

ที่สำคัญ ผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่แทนผู้ว่าการ กยท.จะต้องมีฝีมือ ความสามารถ และคุณสมบัติเหมาะสม ไม่ใช่แค่มือสมัครเล่น เพราะหากเป็นอย่างนั้นจะยิ่งซ้ำเติมชาวสวนยาง และทำให้ยางพาราพืชเศรษฐกิจหลักที่สร้างรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 4 แสนล้านบาท ย่ำแย่ลงอีก