จากโอชิน แดจังกึม มาถึงบุพเพสันนิวาส

คอลัมน์ คนเดินตรอก
โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

ละครโทรทัศน์ที่ฮือฮาเป็นที่นิยมชมชอบจากแม่บ้านคนไทย ยุคหนึ่งเคยกล่าวกันว่าวันไหนที่ละครทีวีเรื่อง โอชิน หรือ แดจังกึม ออกอากาศ เย็นนั้นรถราในท้องถนนจะว่าง เพราะผู้คนรีบกลับบ้านไปดูละครโทรทัศน์ บัดนี้ละครทีวีเรื่องบุพเพสันนิวาสก็กำลังโด่งดังเป็นที่นิยมของคอละครโทรทัศน์ในเมืองไทย ระดับเดียวกันกับโอชินและแดจังกึม เป็นการช่วยฉุดเรตติ้งของโทรทัศน์ช่อง 3 ที่กำลังตก ตามกระแสของความตกต่ำของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ เพราะการเปลี่ยนเทคโนโลยีการสื่อสาร พร้อม ๆ การตกต่ำของภาวะเศรษฐกิจ การเพิ่มจำนวนช่องจนจะไม่มีผู้ใดอยู่ได้ พาให้ธนาคารพาณิชย์ที่ค้ำประกันซองประมูลสัมปทานอาจมีปัญหาได้ เมื่อละครเรื่องบุพเพสันนิวาสดังเป็นพลุอย่างนี้ ก็เท่ากับเป็นการช่วยสถานีโทรทัศน์ไปด้วย

สาเหตุที่ละครเรื่องนี้เป็นที่นิยมชมชอบของผู้ชมละครโทรทัศน์ สื่อสายบันเทิงหลายแขนงก็ได้เสนอการวิเคราะห์ไปแล้ว แต่เป็นที่น่าสังเกตความเหมือนและความแตกต่างของละครเรื่องที่กล่าวนี้โอชินเป็นละครทีวีของญี่ปุ่น แดจังกึมและบุพเพสันนิวาสเป็นละครทีวีของเกาหลีและของไทย ความสำคัญทั้ง 3 เรื่องเป็นที่นิยมทั่วเอเชียตะวันออก แต่ไปไม่ถึงเอเชียตะวันตก ยุโรป และอเมริกา คงจะเป็นเพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่มีมากเกินกว่าความสามารถของผู้ชมในพื้นที่ดังกล่าว หรือมีไม่มากพอที่จะเข้าใจจนเกิดความสนุกสนานได้ ละครทั้ง 3 เรื่อง โอชินของญี่ปุ่น ดูมีเนื้อหาภาวะแวดล้อมความลำบากยากจนที่หนักกว่าเพื่อน

ละครทั้ง 3 เรื่องสะท้อนฐานะทางสังคมของผู้หญิงในเอเชียตะวันออก ตัวเอกในเรื่องเป็นผู้หญิงที่เมื่อแต่งงานหรือเป็นคู่หมั้นคู่หมายแล้ว ต้องเข้าไปอยู่ร่วมชายคาบ้านเดียวกันกับมารดาของสามีหรือคู่หมั้นคู่หมายที่จะแต่งงานกัน ต้องผ่านความยากลำบากจากอคติของมารดาของพระเอกในเรื่อง ซึ่งก็เป็นธรรมดาสำหรับนวนิยายประโลมโลกของไทย ที่นางเอกจะต้องตกระกำลำบากจากความอยุติธรรมจากแม่สามี แต่ก็อดทนเอาความดีเข้าสู้จนชนะใจมารดาสามีได้ในที่สุด ละครทีวีหรือภาพยนตร์ก็เช่นเดียวกัน สะท้อนให้เห็นความเป็นใหญ่ของฝ่ายชาย เพราะเป็นการเอาสะใภ้เข้าบ้านในกรณีที่เป็นครอบครัวของชนชั้นบนสุดของสังคม

แต่ถ้าเป็นกรณีชั้นล่างของครอบครัวไพร่นั้นเป็นการเอาเขยเข้าบ้าน ฝ่ายหญิงจึงเป็นใหญ่ในบ้าน ซึ่งต่างกับสังคมญี่ปุ่นและเกาหลี ที่น่าสังเกตอีกอย่างก็คือ ในการปกครองบ่าวไพร่ในบ้าน ผู้ชายไทยมักจะยกให้เป็นสิทธิของฝ่ายหญิงหรือฝ่ายแม่บ้านมากกว่า

ทั้ง 3 เรื่องเป็นละครโทรทัศน์ที่อิงประวัติศาสตร์ โอชินเป็นอัตชีวประวัติของหญิงเศรษฐินีเจ้าของห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่น ใช้ฉากในยุคที่ญี่ปุ่นกำลังสร้างประเทศ มีการเก็บภาษีอย่างหนัก ผลักดันการส่งออกเพื่อหาเงินตราเข้าประเทศ เพื่อนำไปบำรุงกองทัพ เป็นห้วงเวลาที่ประชาชนระดับล่างที่เป็นชาวไร่ชาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายที่รับภาระทุกอย่าง ทั้งในบ้านและบ้านเมือง

ถ้าละครทั้ง 3 เรื่อง เป็นการสะท้อนสถานภาพของสตรียุคก่อนของทั้ง 3 ประเทศ สถานภาพของหญิงไทยที่ไม่ใช่ทาส แต่ในระดับไพร่ ก็น่าจะดีกว่าในกรณีของญี่ปุ่นและเกาหลี หรือแม้แต่จีน ซึ่งไม่น่าจะแตกต่างจากญี่ปุ่นและเกาหลีเท่าใดนัก

ที่แปลกก็คือ คนไทยเกือบทั้งหมดทุกระดับให้ความสนใจกับประวัติศาสตร์ของชาติหรือชุมชนตนเองน้อยมาก เกือบจะไม่ให้ความสนใจประวัติความเป็นมาของโบราณสถานในที่ต่าง ๆ เลย เมื่อปราสาทนครวัด นครธม และอื่น ๆ ยังอยู่กับไทยเราก็ไม่สนใจจนเถาวัลย์พันธุ์ไม้ขึ้นปกคลุมเสียหมด ปราสาทเขาพระวิหารก็เป็นกองหินที่ช้างเอาไว้เกาหลัง

คนไทยมาเห่อประวัติศาสตร์โบราณสถานและโบราณคดีในยุคหลัง นำโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับพระสหายชาวฝรั่งเศส ยอร์ช เซเดส์ ที่ให้ความสนใจและถ่ายภาพออกมาเผยแพร่เป็นเอกสาร จึงมีการอนุรักษ์และบูรณะขึ้นในภายหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงศรีอยุธยาราชธานีที่ดำรงคงอยู่ถึง 417 ปี มีกษัตริย์ปกครองอยู่ถึง 33 พระองค์ จาก 5 ราชวงศ์ โดยเริ่มจากราชวงศ์อู่ทอง จบลงที่ราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งเป็นชื่อตำบลหนึ่งในเมืองสุพรรณบุรี

ผู้สร้างเรื่องนี้ได้นำเอาประวัติศาสตร์ยุคปลายราชวงศ์ปราสาททองต่อกับยุคราชวงศ์บ้านพลูหลวงมาทำเป็นละคร ก็ดีแล้วเพราะละครก็คือละคร ยิ่งเป็นละครที่อิงประวัติศาสตร์จากบันทึกในพงศาวดารก็ต้องทำใจว่า อาจจะมีความจริงอยู่บ้างในเชิงข้อเท็จจริง แต่ในแง่การตีความแล้วก็ต้องชั่งใจให้ดี แม้กระทั่งการตีความยกย่องฝ่ายขุนหลวงนารายณ์ หรือสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

แล้วเหยียบย่ำสมเด็จพระเพทราชา ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ละครยังไม่จบ แต่คงว่าไปตามพงศาวดาร

ที่น่าชื่นชมก็คือ ความละเอียดอ่อนของการจินตนาการในรายละเอียดของสังคมเมื่อ 300-400 ปีมาแล้วจากซากสลักหักพังในโบราณสถาน ฉากภาพจิตรกรรมฝาผนังจากหนังสือและจากกาพย์กลอนของคนยุคนั้น ทรงผมผู้ชายผู้หญิง ผมประบ่าตามกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งหรือเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ หรือเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่นำมาปะติดปะต่อเป็นทรงผม เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับของคนชั้นสูงในรั้วในวังและจวนของขุนน้ำขุนนาง รวมทั้งคำพูดคำจาและภาษาที่มีชีวิตชีวาไม่เคยหยุดนิ่ง รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผู้สร้างคงจะนำมาจากการค้นคว้างานวิจัยโบราณคดีของกรมศิลปากรของเรา คงจะไม่มีใครรู้จริงว่าในสมัยอยุธยามีวิวัฒนาการอย่างไร เพราะอยุธยามีอายุถึง 417 ปี รัตนโกสินทร์ตอนต้นก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัฒนธรรมจีนในด้านต่าง ๆ เริ่มเข้ามา ผสมกับวัฒนธรรมขอมหรือเขมร ส่วนวัฒนธรรมฝรั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษและฝรั่งเศส แม้จะเริ่มเข้ามาในราชสำนักนานแล้ว แต่ระดับชาวบ้านจะต้องใช้เวลา เพราะเป็นวัฒนธรรมที่ไกลออกไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งคริสต์ศาสนา

ความขัดแย้งในราชสำนักเกิดขึ้นทันทีเมื่อมีการเอาต่างชาติเข้ามาคานอำนาจกันและกัน เป็นเหตุผลสำคัญที่ฝ่ายต่อต้านอำนาจเดิมจะยกขึ้นอ้างเพื่อปกป้องพุทธศาสนา ซึ่งเป็นกรณีของความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองเดิมกับอำนาจที่เข้ามาใหม่จากตะวันตก ที่ศรีลังกาบรรยายภาพของฝรั่งโปรตุเกสที่เข้ามารุกรานว่าเป็นยักษ์ผมแดง ตัวสูงใหญ่ ผิวแดง จมูกโต พ่นไฟเป็นควันลูกโต คงจะสูบไปป์หรือซิการ์ กินก้อนหินสีน้ำตาลอ่อนเป็นอาหารคงจะเป็นขนมปัง ทำให้ประชาชนหวาดกลัว พระเพทราชาก็ใช้กลยุทธ์แบบเดียวกัน นิมนต์สมเด็จพระสังฆราชประทับบนเสลี่ยง ซัดข้าวสารและทรายเสกไล่ปีศาจฝรั่งดังกล่าวออกจากพระนคร

เมื่อคราวที่ฝ่ายเขมรแดงล้อมกรุงพนมเปญไว้ รัฐบาลลอนนอล ซึ่งเป็นรัฐบาลที่สหรัฐอเมริกาจัดตั้งเพื่อสู้กับเขมรแดง
เมื่อ 40 ปีที่แล้ว นายพลลอนนอลก็ใช้เครื่องบินพรมน้ำมนต์ ทรายเสก ข้าวสารเสก เพื่อขับไล่ภูตผีปีศาจ เขมรแดงของ พอล พต ที่มาล้อมเอาไว้ก่อนกรุงพนมเปญแตกต่างกันเพียงนายพลลอนนอลเชื่ออย่างนั้นจริง ๆ แต่พระเพทราชา ลูกชายพระนมของสมเด็จพระนารายณ์ ที่ดื่มนมร่วมกันจากเจ้าแม่วัดดุสิตด้วยกัน จึงเปรียบเสมือนพี่น้องที่เติบโตมาด้วยกัน คงจะรู้ฝีมือกันดีว่าใครเป็นอย่างไร เมื่อพระเพทราชาใช้ฐานะส่วนตัวและอุดมการณ์ชาตินิยม จึงสามารถเอาชนะใจขุนนางที่หวาดกลัวฝรั่งต่างชาติอยู่แล้วว่าจะเข้ามายึดอำนาจ ทำลายบวรพุทธศาสนา นำเอาลัทธิศาสนาคริสต์ของฝรั่งมาเผยแพร่

แต่ที่น่าแปลกใจก็คือไม่มีความคิดต่อต้านอย่างเดียวกันกับศาสนาอิสลาม ทั้ง ๆ ที่ศาสนาอิสลามกับศาสนาคริสต์นั้นมีความใกล้เคียงกัน เป็นศาสนาที่ยึดถือพระเจ้าองค์เดียวกัน เพราะมีรากฐานมาจากศาสนายิวหรือยูดายด้วยกัน เมื่อสมเด็จพระนารายณ์แสดงความโน้มเอียงในทางเกื้อกูลต่อคริสต์ศาสนา ทั้ง ๆ ที่เป็นราโชบายที่จะเอาใจมหาอำนาจฝรั่งเศส สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งเป็นจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ปกครองยุโรปเกือบทั้งหมด

นอกจากจินตนาการเรื่องทรงผม ทั้งปล่อยประบ่าและเกล้าปักปิ่น การย้อมฟันให้ดำหรือเคี้ยวหมากจนฟันดำ เครื่องนุ่งห่ม ลายผ้า เครื่องประดับ ทั้งเครื่องเพชรพลอย เครื่องทองหยอง รวมทั้งจินตนาการเรื่องการเข้าเฝ้าในท้องพระโรงในพระที่นั่งสำคัญ ๆ ต่าง ๆ แม้จะมีข้อบกพร่องบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ภาชนะของใช้ที่ยังไม่มีในสมัยนั้น หรือการครองผ้าจีวรของพระภิกษุสงฆ์ในสมัยนั้น น่าจะห่มผ้าแบบมหานิกาย การห่มแหวกแบบมอญเกิดขึ้นหลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงสถาปนาธรรมยุติกนิกายที่วัดสมอราย หรือวัดราชาธิวาสแล้ว ภิกษุมหานิกายยังคงห่มจีวรแบบไทยมาจนทุกวันนี้ มิได้ห่มแหวกแบบมอญเสียหมด อย่างที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงวิตก คนไทยนั้นไปไหนมาไหนไม่สวมรองเท้า เมื่อขึ้นบ้านหรือขึ้นกุฏิต้องมีที่ล้างเท้าด้วยกระบวยเสมอ

ขอชื่นชมผู้เขียนเรื่อง เขียนบท ผู้ออกแบบเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ฉากบนเรือน ในคลอง ในวัง ที่สามารถสร้างขึ้นมาได้อย่างตื่นตาตื่นใจ ไม่แปลกใจที่สามารถตีตลาดละครเอเชียได้ ถ้าตีตลาดเมืองจีนได้ก็จะดียิ่งนัก

ขอแสดงความยินดีด้วยอย่างยิ่ง