คนไทยติดโซเชียล

คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย ดิษนีย์ นาคเจริญ

สึนามิ “ดิจิทัล” กระทบทุกธุรกิจมากน้อยต่างกันไป ธุรกิจเพลงโดนก่อนตั้งแต่ยุคที่ซีดีมาแทนเทปคาสเซต มาถึงเครื่องเล่นเพลงเอ็มพี 3-มิวสิกสตรีมมิ่ง ก่อนที่เราจะรู้จักคำว่า “เทคโนโลยีดิสรัปชั่น” เทคโนโลยี “ดิจิทัล” คุกคามไปทุกวงการ เริ่มจากธุรกิจ “สื่อ” ทั้งสิ่งพิมพ์, ทีวี และวิทยุ โดนถ้วนหน้า เมื่อ “โซเชียลมีเดีย” เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตของไทยมากขึ้น และมากขึ้น

พลิกสถานะจาก “สื่อใหม่” มาเป็น “กระแสหลัก” ในแง่จำนวนผู้ใช้งาน ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในบ้านเรา “เฟซบุ๊ก” กลายเป็นมหาอำนาจใหม่ในโลกยุคดิจิทัลและคนไทยไม่แพ้ใครในโลกในเรื่องนี้ เห็นได้จากการที่กรุงเทพฯเป็น 1 ใน 10 เมืองหลวงของ “เฟซบุ๊ก” ติดต่อกันมาหลายปี

ประชากร “เฟซบุ๊ก” ในบ้านเรา ณ สิ้นปี 2560 ทะลุ 49 ล้านรายไปแล้ว แม้จะเพิ่มขึ้นลดลงเหลือ 4% ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก็ยังติดอันดับ 8 ของโลกที่มีการใช้งานมากที่สุด โดยจังหวัดที่มีผู้ใช้มากที่สุด คือ 1.กรุงเทพฯ 2.เชียงใหม่ และ 3.ชลบุรี

ส่วนช่วงเวลาที่นิยมใช้ก็แทบตลอดเวลาที่ตื่น คือ ตั้งแต่ 10.00-23.00 น. และไม่ใช่แค่ “เฟซบุ๊ก” เท่านั้นที่คนไทยชื่นชอบ “อินสตาแกรม” (ไอจี) ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน มีคนใช้ 13.6 ล้าน เติบโต 24% และไทยอยู่ในอันดับ 14 ของโลก

ในแง่พฤติกรรมการใช้งาน ต่างจาก “เฟซบุ๊ก” ตรงที่คนส่วนใหญ่ใช้ช่วงวันหยุด “เสาร์-อาทิตย์” เป็นหลัก เพราะเน้นการโพสต์ “รูป” เข้าทางคนไทยที่ชื่นชอบการถ่ายรูป (มาก) วันหยุดไปเที่ยว ไหนกินอะไร ต้องถ่ายรูปโพสต์ขึ้น “ไอจี”

การใช้ “ไอจี” ของคนไทย 71% โพสต์รูปอีก 24% โพสต์รูปแบบหลายรูปในโพสต์เดียวหรือที่เรียกว่า (carousel) ซึ่งเป็นฟีเจอร์ใหม่ และ 5% ที่เหลือโพสต์ “วิดีโอ”

อีกโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นไทยเพิ่มขึ้นมาก คือ “ทวิตเตอร์” มีผู้ใช้ 12 ล้านบัญชี เติบโตขึ้น 33% แต่ที่น่าสนใจเป็นจำนวนผู้ใช้เป็นประจำ (แอ็กทีฟ ยูสเซอร์) เพิ่มสูงปรี๊ดถึง 82% ทั้งช่วงที่มีการใช้งานยังดึกขึ้นกว่าเดิมจาก 2 ทุ่มถึงเที่ยงคืนลามไปถึงตีหนึ่ง

“วัยรุ่น” ยุคใหม่มีแนวโน้มที่จะนอนดึกขึ้น ?

“โธธ โซเชียล โอบีว็อค” เปิดเผยว่า ในปี 2560 มีการโพสต์ข้อมูลบนโซเชียลมีเดียกว่า 3.6 พันล้านข้อความ ในจำนวนนั้นกว่า 300 ล้านข้อความพูดถึงแต่เรื่องบันเทิง แบ่งเป็นพูดถึงศิลปินชาย 52.5% รายการทีวี 29.7% และนักแสดง 5.9%

ฟาก “ยูทูบ” ประเทศไทย เปิดเผยคนใช้งานในปัจจุบัน ว่ามี 40 ล้านคน ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก และเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีช่องยูทูบที่ได้รับรางวัล Diamond Button (ช่องที่ผู้ติดตามมากกว่า 10 ล้านคน)

มีช่องที่ได้รับรางวัล Gold Button (มีผู้ติดตามกว่า 1 ล้านคน) มากเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย-แปซิฟิก คือ 49 ช่องปีที่แล้ว มีช่องที่ได้รับรางวัล Silver Button (มีผู้ติดตามกว่า 1 แสนคน) และ Gold Button เพิ่มขึ้นมาก โดยช่อง Gold Button เพิ่มเดือนละ 4 ช่อง

ปัจจุบันไทยมีช่องยูทูบที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1,000,000 คน ถึง 100 ช่อง และมีช่องที่มีผู้ติดตามมากกว่า 100,000 มากถึง 1,200 ช่อง ทั้งยังพบอีกว่า 93% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และ 92% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในต่างจังหวัดเข้าชมวิดีโอบน “ยูทูบ” โดยคนกรุงมีการใช้เฉลี่ย 70 นาที/ครั้ง หรือ 2.4 ชั่วโมง/วัน คนต่างจังหวัด 60 นาที/ครั้ง หรือ 2.1 ชั่วโมง/วัน

นอกจากนี้ 75% ของผู้ที่เข้าไปดูวิดีโอบน “ยูทูบ” จะเข้ามาชมทุกวัน และ 62% เข้าชมวันละหลาย ๆ ครั้ง หากแบ่งตามช่วงอายุ พบว่า 85% อายุ 16-24 ปี 79% อายุ 25-34 ปี และ 67% อายุ 35 ปีขึ้นไป หมายความว่า กลุ่มผู้ใช้ “ยูทูบ” ไม่ใช่แค่ “วัยรุ่น”

สถิติทั้งหมดย้ำให้เห็นว่า คนไทยไม่แพ้ใครในโลก