อย่าประมาท กับ “โรคพิษสุนัขบ้า”

ความรุนแรงในการระบาดของ “โรคพิษสุนัขบ้า” หรือ “โรคกลัวน้ำ” ที่กำลังเกิดขึ้นกว่า 50 จังหวัดในประเทศไทย ถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างมากทีเดียว

เพราะปัจจุบันความนิยมในการเลี้ยงสัตว์ของคนไทยเพิ่มขึ้นมาก ดังจะเห็นได้จากภาพรวมตลาดสัตว์เลี้ยง ซึ่งส่วนใหญ่ คือ สุนัข และแมว อาหารสัตว์ และผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงมีอัตราการเติบโตกว่า 20,000 ล้านบาทแล้ว

แต่ขณะที่สอบถามถึง “ความรู้สึกต่อข่าวนี้” จากญาติพี่น้อง และคนรู้จักรอบข้าง ดูเหมือนหลายคนยังไม่ค่อยตระหนักถึงพิษภัย ! และยัง “ขาดความรู้ ความเข้าใจ” ที่ถูกต้อง !

แถมหลายคนมองว่า “เป็นเรื่องไกลตัว” ! ทั้งที่แต่ละบ้านเลี้ยงสุนัข และแมวหลายตัว

โดยเฉพาะ “ความเข้าใจผิด” ที่ว่า สุนัข และแมวที่ได้รับการ “ฉีดวัคซีน” โรคพิษสุนัขบ้าแล้ว โอกาสจะเป็น “โรคพิษสุนัขบ้า ไม่มี” !

ล่าสุด นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข บอกชัดเจนว่า

จากการทบทวนรายงานการสอบสวนโรคของผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าย้อนหลัง 3 ปี เกี่ยวกับสาเหตุที่ไม่ได้เข้ารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าภายหลังสัมผัสโรค พบว่า 3 อันดับแรกเป็นความเข้าใจผิด คือ

1)ร้อยละ 70 ไม่ได้ตระหนักถึงโรคพิษสุนัขบ้าหรือคิดว่าเป็นสัตว์เลี้ยงของตัวเองแม้ว่าจะตายหรือหายไปก็ไม่น่าจะเป็นอะไร

2)ร้อยละ 11 ลูกสุนัขและแมวเด็ก ๆ ไม่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าหรอก และ 3)ร้อยละ 7 การ “ฉีดวัคซีนในสุนัขและแมว” สามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ 100% โดยไม่สนใจว่าสัตว์นั้นจะตาย ! หรือหายไป !

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง !

ขณะที่สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-19 มีนาคม 2561 มีผู้เสียชีวิต 6 ราย ใน 6 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ สงขลา ตรัง นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.บุรีรัมย์

ที่น่าตกใจคือ พบว่า ผู้เสียชีวิตทุกรายชะล่าใจ ! ในการป้องกัน ! หลังสัมผัสสัตว์ที่เสี่ยงมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ารวมถึงขาดความตระหนัก เพราะเห็นเป็นแผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงไม่ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

ดังตัวอย่างกรณีเด็กหญิง อายุ 14 ปี ชาว จ.บุรีรัมย์ ที่เสียชีวิตรายล่าสุด จากการสอบสวนโรค ของกรมควบคุมโรคพบว่า ผู้เสียชีวิตถูก “ลูกสุนัข” ที่พ่อแม่นำมาเลี้ยง “ข่วน” ! เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2560 แต่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน !

จากการสอบถามพ่อแม่ของน้องที่เสียชีวิต พบว่า เจ้าของไม่ได้พาสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากเห็นว่ายังเป็นลูกสุนัขอยู่

อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรค ได้นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในแต่ละปีมีประชาชนที่ถูกสัตว์กัดและเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้านเฉลี่ยประมาณ 3 แสนราย โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา มีจำนวน 281,849 ราย เฉลี่ย 772 ราย/วัน

และในปี 2561 นี้ (ต้นปี-ปัจจุบัน) จำนวน 63,112 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (3 เดือนต้นปี’60 จำนวน 69,999 ราย)

คุณหมอสุวรรณชัยย้ำว่า หากถูกสุนัขและแมว กัด ! ข่วน ! เลีย ! บริเวณที่เราเป็นแผล แม้เพียงเล็กน้อยก็อย่าได้ชะล่าใจ !!

หลังถูกกัดรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลาย ๆ ครั้ง ประมาณ 10 นาที หลังล้างแผลใส่ยาฆ่าเชื้อโพวิโดนไอโอดีน (เบตาดีน) เพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที !! ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเพื่อฉีดวัคซีน และต้องฉีดให้ครบตามนัดทุกครั้ง

เมื่อถูกสุนัขกัด ไม่ว่าสุนัขตัวนั้นจะได้รับการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าครบแล้ว หรือเลี้ยงขังไว้ดี “คนที่ถูกกัด” ต้องฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าเสมอ ซึ่งถือหลักว่าปลอดภัยไว้ก่อนอันเป็นมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ สิ่งที่หลายคนเข้าใจผิด และผู้เขียนประสบมาด้วยตัวเอง คือ บางคนคิดว่า เคยฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าครบ 5 เข็มมาแล้ว ป้องกันได้ตลอดชีวิต แต่เมื่อได้สอบถามคุณหมอ อธิบายให้ฟังว่า

วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าเป็นวัคซีนเชื้อตาย เมื่อฉีดครบชุด 5 เข็มแล้ว ภูมิคุ้มกันจะสูงอยู่ในระยะหลังฉีดเพียง 2 สัปดาห์ แต่หลังจากนั้น 2-3 เดือน แล้วจะเริ่มลดระดับลง ต้องฉีดกระตุ้นอีก 2 เข็ม จึงจะทำให้ภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูงขึ้นมาอีก และจะลดลงอีก

ดังนั้น ถ้าถูกกัดบ่อย ๆ ก็ต้องฉีดทุกครั้งที่ถูกกัด แต่ลดจำนวนเหลือเพียง 1-2 เข็ม

ทั้งนี้ หากใครมีข้อสงสัย โทร.ไปคุยกับเจ้าหน้ากรมควบคุมโรค สายด่วนได้ โทร.1422

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าที่กำลังเกิดขึ้น จึงขอให้ทุกคนอย่าประมาท เพราะหากติดเชื้อแล้ว ไปหาหมอฉีดวัคซีนช้า…ไปกว่ากำหนด “ตาย”

อย่างเดียว !!

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”