คาดเงินเฟ้อไตรมาส 2 สูงขึ้น 1.06%

คอลัมน์ DATA

เงินเฟ้อ มีนาคมปรับเพิ่มขึ้น ผลจากการบริโภค การใช้จ่ายในครัวเรือนประกอบกับราคาผักสด พลังงานเพิ่มมีผลต่อเงินเฟ้อ โอกาสจะปรับเพิ่มขึ้นหลังจากนี้

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) ประจำเดือนมีนาคม 2561 เท่ากับ 101.12 เพิ่มขึ้น 0.79% เทียบกับเดือนมีนาคม 2560 สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และติดลบ 0.09% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2561

การปรับตัวสูงขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนนี้มีปัจจัยสำคัญมาจากการบริโภคและการใช้จ่ายในครัวเรือนที่มีผลทำให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับ การสูงขึ้นของราคากลุ่มพลังงานเพิ่มขึ้น 3.79% และราคาผักสดเพิ่มขึ้น 7.63% โดยเฉพาะราคามะนาวในปี 2561 นี้ ขยับขึ้นถึง 50% หรือเฉลี่ยอยู่ที่ลูกละ 5 บาท และผักชี ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ผักคะน้า ถั่วฝักยาว ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ นอกจากนี้ สินค้าอื่น ๆ

ที่ปรับเพิ่มขึ้น อาทิ กาแฟผง ชาสำเร็จรูปพร้อมดื่ม อาหารสำเร็จรูป และข้าวสารเจ้าราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 30 เดือน

ทั้งนี้หากแยกพิจารณารายสินค้าในเดือนมีนาคม 2561 พบว่า สินค้า 238 รายการที่ติดตาม เป็นกลุ่มสินค้าที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคา 70 รายการ สินค้าที่ปรับราคาลดลง 114 รายการ

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (หักกลุ่มอาหารสดและพลังงาน) เท่ากับ 101.75 สูงขึ้น 0.63% เทียบเดือนมีนาคม 2560 และสูงขึ้น 0.04% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ทำให้ไตรมาสแรกเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้น 0.61%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค.ระบุว่าเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาสแรกปี 2561 สูงขึ้น 0.64% สำหรับเงินเฟ้อไตรมาส 2/2561 มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจะสูงขึ้น 1.06% ซึ่งมีพื้นฐานปัจจัยมาจากฐานดัชนีเงินเฟ้อช่วงเดียวกันปีก่อนติดลบ แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น ตลอดจนการลงทุนของภาครัฐ

ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำซึ่งมีผลตั้งแต่ 1 เมษายน 2561 “ยังไม่มีผลกระทบ” ต่อต้นทุนการผลิตสินค้า แต่จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

โดยมองว่าโอกาสที่เงินเฟ้อปรับขึ้นในแต่ละเดือนโอกาสอยู่ที่ 1% เกิดจากรายได้ดี มีกำลังซื้อและความต้องการเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ไม่ได้มีปัจจัยเรื่องการปรับขึ้นราคาสินค้า

สนค. คาดการณ์เป้าหมายเงินเฟ้อ ทั้งปี 2561 อยู่ที่ 0.7-1.7% ซึ่งอยู่ภายใต้สมมุติฐานการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปี 2561 อยู่ที่ 3.6-4.6% ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 55-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ