กฎเหล็กท่องเที่ยวไทย

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

“มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง” ภายใต้สโลแกน “เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต” หนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลกำลังผลักดัน จะเป็นจริงได้ต้องอาศัยความร่วมมือหลายภาคส่วน นอกจากหัวขบวนหลักการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแล้ว 55 จังหวัดเมืองรองในฐานะเจ้าของพื้นที่ก็มีส่วนสำคัญยิ่ง

น่ายินดีที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมกันรณรงค์แนวปฏิบัติ หรือ code of conduct การท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อันจะนำมาซึ่งการเติบโตทางการท่องเที่ยวและทำให้ท้องถิ่นชุมชนมีความมั่นคงยั่งยืน

แนวทางดำเนินการได้กำหนดนโยบายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใน 55 จังหวัดรองนำ code of conduct ที่คณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติกำหนดขึ้นไปปรับในการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างภูมิคุ้มกันการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้ยืนอยู่ได้ในระยะยาว

กฎเหล็กในส่วนของชุมชน เริ่มจากการนำเสนอกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยมุ่งเน้นเรื่องการบริหารจัดการ ให้ชุมชนรวมกลุ่มบริหารจัดการการท่องเที่ยว กำหนดโครงสร้างและบทบาทหน้าที่การทำงานให้ชัดเจน ขณะเดียวกันก็เปิดกว้างให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดวิเคราะห์วัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว

พร้อมกำหนดกฎกติกาในการกระจายรายได้ ขีดความสามารถของแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่จะรองรับนักท่องเที่ยว การลดผลกระทบจากการท่องเที่ยว จัดกิจกรรมที่เหมาะสม และไม่สนับสนุนการค้ามนุษย์ กิจกรรมทางเพศ ยาเสพติด การดูแลสัตว์ที่ไม่เหมาะสม ที่สำคัญต้องบริหารจัดการการเงินและบัญชีอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมทั้งติดตามประเมินผลการทำงานอย่างสม่ำเสมอ

ด้านเศรษฐกิจ ต้องกำหนดราคา ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวแต่ละกิจกรรมให้เหมาะสม นำเสนอสินค้าและบริการโดยใช้วัตถุดิบภายในท้องถิ่น เชื่อมโยงกลุ่มต่าง ๆ เพื่อกระจายรายได้ วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวสำหรับใช้วางแผนการตลาด มุ่งเน้นเป้าหมายรายได้มากกว่าปริมาณนักท่องเที่ยว และจัดสรรผลกำไรไปพัฒนาชุมชน

ด้านสังคม ควรจัดกิจกรรมท่องเที่ยวในลักษณะส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิตท้องถิ่น และให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์จริงเพื่อให้เกิดการเรียนรู้

ด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมหลักการ 3R คือ reuse การนำกลับมาใช้ใหม่ reduce การลด และ recycle การนำกลับมาใช้ซ้ำ ส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่สนับสนุนการซื้อขายสินค้าบริการที่ขัดกฎหมายหรือเป็นภัยต่อระบบนิเวศ ปลุกจิตสำนึกการจัดการและการพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ด้านการบริการและความปลอดภัย ต้องปลุกจิตสำนึกการให้บริการของคนในชุมชน สร้างบรรยากาศเป็นมิตร พัฒนาทักษะการบริการและการสื่อสาร เน้นความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน สุขอนามัย เป็นต้น

แนวปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว อาทิ ต้องจดทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวถูกต้องตามกฎหมาย ปฏิบัติตามกฎกติกาชุมชน คัดกรองนักท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับพื้นที่ แจ้งข้อควรปฏิบัติ กฎระเบียบของชุมชนแก่นักท่องเที่ยว อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เคารพสิทธิของชุมชน การสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของชุมชน จ้างแรงงานท้องถิ่น และคืนกำไรสู่ชุมชน

ขณะที่แนวทางปฏิบัติสำหรับนักท่องเที่ยว อันดับแรกควรเตรียมความพร้อมด้วยการศึกษาข้อมูลการท่องเที่ยว และรับทราบข้อควรปฏิบัติของชุมชน อุดหนุนสินค้าและบริการของชุมชน เช่น ของที่ระลึก อาหาร พาหนะเดินทาง การร่วมเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน และไม่สนับสนุนการซื้อขายสินค้าหรือบริการที่ผิดกฎหมายหรือเป็นภัยต่อระบบนิเวศ

การปฏิบัติตามกฎเหล็กแม้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ขึ้นอยู่กับคนในชุมชน ผู้ประกอบการ รวมทั้งนักท่องเที่ยวว่าจะตระหนักรู้ ลงมือทำหรือไม่ สำคัญสุดคือทุกฝ่ายต้องร่วมแรงร่วมใจ ท่องเที่ยวท้องถิ่นไทยจึงจะยั่งยืนได้