ตั้งรับความไม่แน่นอน “การเมือง-เศรษฐกิจโลก”

บทบรรณาธิการ

แม้ว่าปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงตัวเลขเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง และมีทิศทางที่ดีขึ้น ด้วยแรงขับเคลื่อนหลักจากภาคการส่งออก และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี รวมทั้งการบริโภคภาคเอกชนที่มีสัญญาณบวก จากที่ตัวเลขจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวกว่า 7% สะท้อนถึงกำลังซื้อที่กำลังฟื้นตัว แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเวลานี้ ทุกฝ่ายไม่อาจมั่นใจกับเศรษฐกิจในอนาคตได้

เพราะยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่ร้อนแรง โดยเฉพาะปัญหา “สงครามการค้า” ระหว่างสหรัฐและจีน 2 มหาอำนาจเศรษฐกิจโลก ซึ่งชัดเจนว่าหากเกิดสงครามการค้าขึ้นจริง ผลพวงจากที่ทั้ง 2 ฝ่ายประกาศขึ้นกำแพงภาษีสินค้าต่าง ๆ เท่ากับเป็นการปิดประตูการค้า

ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าการค้าทั่วโลกหดตัว ความคาดหวังเรื่องการขยายตัวของภาคส่งออกระดับสูงของไทยคงเป็นเรื่องยากมากขึ้น

ขณะที่ภายในประเทศก็มีปัจจัยเสี่ยงทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่ยังต้องจับตา เนื่องจากเศรษฐกิจฐานรากของไทยยังอยู่ในภาวะที่ไม่ฟื้นตัว แม้แต่กระทรวงการคลังกับ ธปท. ก็ยอมรับว่าเวลานี้เศรษฐกิจโตแบบกระจุกจนกระจาย

ทำให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องออกมาส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบ ต้องแบกภาระต้นทุนการเงินสูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ส่วนใหญ่ได้รับเงื่อนไขดอกเบี้ยพิเศษจากสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ “การเมือง” เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ผูกโยงกับเศรษฐกิจ แม้ว่ารัฐบาลจะปักหมุดเลือกตั้งในเดือนมีนาคมปี 2562 แต่ในสภาพความเป็นจริงยังไม่สามารถยืนยันได้ 100% ว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามโรดแมปหรือไม่

เพราะล่าสุด สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ส่งร่างกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ สิ่งที่ไม่แน่นอนและเหนือความคาดหมายจึงอาจเกิดขึ้นได้


ทุกภาคส่วนจึงต้องตั้งมั่นอยู่ใน “ความไม่ประมาท” พร้อมตั้งรับและบริหารความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น ในส่วนของภาคธุรกิจแม้จะเห็นสัญญาณบวกจากกำลังซื้อก็ไม่ควรวางใจสถานการณ์ที่อาจพลิกผัน ขณะที่ภาคประชาชนต้องวางแผนการใช้ชีวิตบนความไม่ประมาท เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากปัจจัยลบ จะได้ไม่ตื่นตระหนกจนเสียหายมากกว่าที่ควรจะเป็น