ความจริงจาก CEO

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

หลังจากหยุดพักผ่อนท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ นอกจากต้องติดตามข่าวใหญ่เรื่องสหรัฐร่วมกับพันธมิตรอังกฤษและฝรั่งเศส เปิดฉากโจมตีทางอากาศประเทศซีเรีย จนหวั่นเกรงว่าจะเป็นชนวนสงครามครั้งใหม่หรือไม่ หรือประเด็นร้อนเรื่องข้อมูลบัตรประชาชนของผู้เปิดใช้บริการมือถือของทรูมูฟ เอช หลุดออกมา เหล่านี้เป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องติดตาม

ขณะที่ล่าสุดก็มีการเปิดผลสำรวจความคิดเห็นของซีอีโอบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ (CEO survey) ต่อเศรษฐกิจไทยช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 เรียกว่าเป็นการฟังข้อมูลจากปากตัวจริงเสียงจริงของซีอีโอ 115 บริษัทที่ตอบคำถามในการสำรวจเมื่อ 8 ม.ค.-18 มี.ค. 2561

แม้ว่าผู้บริหาร บจ.ส่วนใหญ่จะมีความเห็นว่า เศรษฐกิจปี 2561 มีแนวโน้มดีขึ้น โดยมีปัจจัยบวกสำคัญจากด้านการท่องเที่ยว ที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจประเทศมากขึ้น กลายเป็นปัจจัยสนับสนุนอันดับ 1 แทนการลงทุนและใช้จ่ายของภาครัฐที่เคยเป็นพระเอก

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่บั่นทอนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรก ในมุมมองของซีอีโอ 3 อันดับแรก คือ ความผันผวนของค่าเงินบาทที่นักธุรกิจกลัวมาก เพราะค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง จากสิ้นปี 2559 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 36.0025 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าต่อเนื่องมาอยู่ที่ 32.8472 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2560 เป็นการแข็งค่าขึ้น 8.76% และช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ก็ยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง ที่คอยกดดันภาคส่งออก

ปัจจัยเสี่ยงอันดับสองคือ เสถียรภาพของการเมืองในประเทศ และอันดับ 3 ต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น หลังการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 308-330 บาท ตั้งแต่ 1 เมษายนที่ผ่านมา

นี่ยังไม่นับปัจจัยเสี่ยงเรื่องสงครามการค้าของจีนและสหรัฐ และสงครามขีปนาวุธที่กำลังปะทุเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มเข้ามา

นอกจากนี้ผลสำรวจซีอีโอส่วนใหญ่ยังคาดการณ์ว่า ผลประกอบการและรายได้ของบริษัทจะมีการเติบโตมากกว่า 3% แต่ภาระต้นทุนการผลิตก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน ผลจากต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งราคาวัตถุดิบและต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวก็ทำให้บรรดาซีอีโอยอมรับว่า มีโอกาสที่จะปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการต่อไป

แต่ก็น่าสนใจ มี 14% ของซีอีโอ คาดว่าจะปรับลดราคาสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในหมวดประกันภัยและประกันชีวิต หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์

และหมวดรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งผลสำรวจไม่มีคำอธิบายถึงเหตุผล แต่ก็คาดว่าน่าจะมาจากปัจจัยจากการแข่งขันที่รุนแรงของภาคธุรกิจดังกล่าว

สำหรับปัญหาสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ แม้ว่าซีอีโอส่วนใหญ่มองว่าโดยรวมไม่เปลี่ยนแปลงจากที่ผ่านมา แต่ก็มีประเด็นที่น่าห่วงและต้องจับตาก็คือ บริษัทที่ประสบปัญหาเรื่องการชำระหนี้ของลูกค้าเริ่มมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

โดย 42% ของ บจ.ที่ตอบคำถามเริ่มประสบปัญหาการชำระค่าสินค้าและบริการของลูกค้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 41% จากช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ตามด้วยปัญหายอดขายที่ลดลงจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะบริษัทในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม หมวดบรรจุภัณฑ์ หมวดเทคโนโลยี หมวดแฟชั่น หมวดวัสดุก่อสร้าง และหมวดพาณิชย์

ขณะที่ธุรกิจในหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ หมวดประกันภัยและประกันชีวิต หมวดรับเหมาก่อสร้าง รวมทั้งกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม (ตลาด mai) เริ่มประสบปัญหาลูกหนี้การค้าไม่สามารถชำระค่าสินค้าและบริการมากขึ้น

เรียกว่าแม้ภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ไส้ในมีปัญหามากมายที่กำลังปะทุ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการชำระหนี้ และลูกหนี้การค้าที่มีปัญหามากขึ้น


สะท้อนถึงข้อเท็จจริงของปัญหาที่ซ่อนอยู่