เมืองการบิน : รูปแบบใหม่พัฒนาเมือง

คอลัมน์ เปิดมุมมอง โดย ดร.จริยา บุณยะประภัศร TEAM GROUP

ถ้าพัฒนาได้ประสบความสำเร็จ เมืองการบิน หรือ aerotropolis จะเป็นแนวคิดที่พลิกรูปแบบการพัฒนาเมืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในทศวรรษหน้า

เป็นที่ทราบดีว่าสินค้าหรือบริการมีมูลค่าสูงจะพึ่งพาการขนส่งหรือการเดินทางทางอากาศ การวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจการค้าและการบริการ ที่สอดคล้องกับการวางแผนพัฒนาสนามบิน เพื่อให้สามารถใช้ศักยภาพและขีดความสามารถของสนามบิน (airport leveraging) เชื่อมโยงแหล่งผลิต แหล่งบริการ และตลาด ในห่วงโซ่อุปทานได้ต่อเนื่อง คล่องตัว และรวดเร็ว จะช่วยยกระดับการสร้างมูลค่าเพิ่มของห่วงโซ่ธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในยุคปัจจุบันที่ปัจจัย เวลา “ไม่ใช่แค่ต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่เป็นการเสียโอกาสทางธุรกิจด้วย”

แนวคิด aerotropolis จะช่วยส่งเสริมนโยบาย Thailand 4.0 ขับเคลื่อนให้พื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนสมัยใหม่อยู่ในแถวหน้าของเอเชีย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ ดิจิทัล การแพทย์ อากาศยาน ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ธุรกิจการจัดนิทรรศการและประชุมสัมมนา การค้าและการบริการ รวมถึงธุรกิจเกี่ยวกับสินค้ามูลค่าสูงที่เน่าเสียได้ เช่น ผลไม้ ดอกไม้ อาหารทะเล ฯลฯ

เมืองการบิน (aerotropolis) คือ การพัฒนาพื้นที่รอบสนามบิน เพื่อให้เกิดการวางแผนพัฒนาที่สามารถเกื้อกูลและใช้ประโยชน์จากการมีสนามบินเป็นศูนย์กลางการพัฒนา โดย Prof. John D. Kasarda ที่ปรึกษาด้านเมืองการบินระดับโลก กล่าวว่า ขนาดอิทธิพลของการพัฒนา aerotropolis ในประเทศต่าง ๆ

ครอบคลุมรัศมีพื้นที่ระยะ 40-90 กม. จากสนามบิน ขึ้นอยู่กับศักยภาพการเป็น hub ของสนามบิน และประสิทธิภาพระบบเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่ง โดยระยะเวลาที่สร้างความได้เปรียบในเชิงธุรกิจ คือ 30 นาทีจากสนามบิน

การประกาศพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาและพื้นที่โดยรอบ 6,500 ไร่ เป็นเขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยใช้ชื่อว่า เมืองการบินภาคตะวันออก วงเงินลงทุน 2 แสนล้านบาท ใน 5 ปีข้างหน้า รวมถึงลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ

ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง เชื่อมสนามบินพาณิชย์ 3 แห่ง ทั้งดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา เข้าด้วยกันไร้รอยต่อ โครงการพัฒนาท่าเรือ โครงการคมนาคมขนส่งหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ รถไฟทางคู่ motorway

โครงการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภคและระบบการสื่อสารโทรคมนาคม จะเป็นแกนสำคัญ (backbone) ของการพัฒนาเมืองการบิน หรือ aerotropolis corridor สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ EEC ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การวางแผนพัฒนาเมืองการบินในประเทศต่าง ๆ จะเริ่มเห็นผลสำเร็จในระยะเวลา 3-5 ปีเป็นต้นไป ดังนั้น ปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญในการวางแผนและพัฒนานับแต่วันนี้ คือ “รูปแบบการพัฒนาเมืองการบินแบบบูรณาการเพื่อยกระดับมาตรฐานและสร้างความยั่งยืน” อย่างน้อยใน 3 ด้าน

1) ด้านการพัฒนาพื้นที่ ที่เกี่ยวกับการวางผังพัฒนาสนามบิน พัฒนาเมือง อุตสาหกรรม ธุรกิจและการค้า ผังโครงสร้างพื้นฐาน ผังระบบสาธารณูปโภค การสื่อสารโทรคมนาคม และมาตรการด้านความปลอดภัย ทั้งในสนามบินอู่ตะเภา และพื้นที่โดยรอบ ที่เป็นแกนกลางของการพัฒนา (airport city core) และในพื้นที่ในรัศมี ประกอบด้วย เมืองการบินชั้นใน (inner aerotropolis) และเมืองการบินชั้นนอก (outer aerotropolis) ที่รองรับแหล่งงาน แหล่งที่อยู่อาศัย คลัสเตอร์อุตสาหกรรม และธุรกิจต่าง ๆ ครอบคลุม EEC ทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา

2) ด้านการบริหารจัดการ ที่หน่วยงานในระดับนโยบายและปฏิบัติการ ได้แก่ สนามบิน สายการบิน หน่วยงานส่วนกลาง จังหวัด ท้องถิ่น กลุ่มอุตสาหกรรมและธุรกิจ และชุมชน ต้องวางแผนดำเนินงานติดตามประเมินผลอย่างบูรณาการและสอดคล้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน ให้มีมาตรฐานที่ดี ดึงดูดนักลงทุน สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตแก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

3) ด้านการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ระบบคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ ระบบสื่อสารโทรคมนาคม ที่จะต้องเชื่อมต่อ ทั้งในระดับน่านฟ้า และในระดับพื้นดิน ต้องรวดเร็วคล่องตัวในการเปลี่ยนถ่ายการขนส่งและการเดินทาง

การพัฒนาเมืองการบินในประเทศต่าง ๆ จะมีบทบาทหน้าที่และคุณค่าที่นำเสนอ เด่นชัดต่างกัน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขันของพื้นที่ตั้งเมืองการบิน เช่น เมืองการบินประเทศเกาหลีใต้ เด่นเรื่องการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ เมืองการบินเจิ้งโจว ประเทศจีน เด่นเรื่องการประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่เมืองการบินที่อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ เป็น hub ที่สามารถเข้าถึงได้สะดวก ทั้งทางอากาศ รถ ราง เรือ พร้อมโครงสร้างพื้นฐานที่ดี จึงดึงดูดบริษัทชั้นนำมาตั้งสำนักงานใหญ่ (headquarters)

ดังนั้น การนำเสนอคุณค่าของเมืองการบินให้ชัดเจนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดนักลงทุน โดยศักยภาพความได้เปรียบของ EEC ที่สามารถต่อยอดและได้รับประโยชน์จากเมืองการบิน ได้เด่นชัด

ในระยะแรก คือ การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวของกลุ่มนักธุรกิจ การจัดนิทรรศการและประชุมสัมมนา ที่ประเทศไทยมีชื่อเสียงระดับแนวหน้าของอาเซียน จะเป็น quick win strategy

นำมาซึ่งคลัสเตอร์การค้า การบริการ และโลจิสติกส์ที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะเป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ขับเคลื่อน Thailand 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยีสูง ต่อยอดจากฐานอุตสาหกรรมเดิม (first S-curve) การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ (new S-curve) ที่จะเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ของภูมิภาค

เมืองการบินจึงเป็นรูปแบบใหม่ของการพัฒนาเมืองที่เปลี่ยนโลก และเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่จะขับเคลื่อน EEC ให้ประสบความสำเร็จ เพื่อสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เข้มแข็งและยั่งยืนให้แก่ประเทศไทย