
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ ประชาชาติ
แผนการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อทำโครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน เดินมาถึงจุดสำคัญ
หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบคำถามของกระทรวงการคลัง ที่ถามทำนองว่ารัฐบาลจะกู้เงิน 5 แสนล้าน เพื่อดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัล ขัดกฎหมายระเบียบวินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 หรือไม่ เนื่องจากรัฐบาล “เล็งเห็น” ว่าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
คำตอบที่ได้จากคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ได้ปฏิเสธว่ากู้ไม่ได้ แต่จะต้องไม่ขัดกับกฎหมายวินัยการเงินการคลัง 4 มาตรา
ประกอบด้วย มาตรา 6, มาตรา 7, มาตรา 9 และมาตรา 53
ใจความโดยรวมมีว่า รัฐต้องก่อหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ-ตรวจสอบได้ ต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน เสถียรภาพความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนทางการคลัง ต้องรักษาวินัยการเงินตามกฎหมายฉบับนี้อย่างเคร่งครัด
รัฐบาลจึงต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า เศรษฐกิจวิกฤตจริง เพื่อเดินตามแผนการกู้เงิน เพื่อเป้าหมายปลายทางบรรลุการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท
เช่น “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า วิกฤตหรือไม่วิกฤตเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันตอบ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นข้อถกเถียงระหว่างพรรคการเมือง พรรคการเมืองที่จะทำก็บอกว่าวิกฤต พรรคที่จะไม่ทำก็บอกว่าไม่มีวิกฤต
“ต้องเอาความเป็นจริงมาพูด ซึ่งหากอยากรู้ว่าวิกฤตหรือไม่ ให้ลงไปที่ตลาดและไปสอบถามจากชาวบ้าน ถ้าหากชาวบ้านบอกว่าไม่วิกฤตก็ให้มาบอกรัฐบาล”
ขณะที่อีกฝ่าย พรรคก้าวไกล-สว. ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลบางราย กลับมองสวนทาง โดยตั้งคำถามว่าเศรษฐกิจวิกฤตตรงไหน…
ตัวอย่างเช่น ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกลกล่าวว่า “ดิฉันคิดว่าคงไม่ได้เป็นไปตามนิยามที่เป็นสากลตามปกติสักเท่าไหร่ สำหรับกรณีของประเทศไทย เราก็คงต้องดูว่ารัฐบาลจะใช้วิธีการใดที่คิดค้นขึ้นมาว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในวิกฤต”
“เมื่อคำนึงว่าปัญหาที่เป็นวิกฤตควรต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน รัฐบาลกลับเลือกทางที่ไม่ได้เร่งด่วนขนาดนั้น คือ พ.ร.บ.ที่เว้นระยะเวลาและยังต้องรอผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ถ้าเป็นวิกฤตเร่งด่วนจริงอาจจะไม่ทันการณ์ก็ได้ หากเกิดข้อติดขัด”
“เช่นหากวุฒิสภาไม่เห็นด้วยแล้วตีกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร กรอบเวลาในการแก้ปัญหาที่วางไว้ก็อาจเป็นไปไม่ได้ มองว่ามีความย้อนแย้งกันอยู่ แต่ก็ต้องเริ่มตั้งแต่การนิยามว่าเป็นวิกฤตหรือไม่แล้ว เพราะนโยบายดิจิทัลวอลเลตเปิดตัวตั้งแต่เดือน เม.ย. 2566 และเราก็ยังรอกันมา 1 ปี จึงไม่รู้ว่าวิกฤตนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ตอนไหนกันแน่”
สมชาย แสวงการ สว.กล่าวว่า ทุกอย่างบ่งชี้ว่าเป็นภาวะฝืดเคืองเล็กน้อยหลังพ้นวิกฤตโควิด-19 และทุกอย่างกำลังจะไปได้ดี จึงสรุปได้ว่าขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต
ทั้งสองฝ่าย สองข้าง อยู่ในเกมชิงเหลี่ยมว่า เศรษฐกิจวิกฤต-ไม่วิกฤต
เหมือนการเมืองช่วงที่ผ่านมา มีการชิงคำว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” มาเป็นคำนามนำหน้าพรรค-พวก
สุดท้ายก็มีคำตอบให้เห็นแล้วเป็นอย่างไร