คอลัมน์ New Normal
โดย ดร.ธีรศานต์ สหัสสพาศน์
เชื่อแน่ว่าในวันที่ 19 เมษายน 2561 ไม่มีข่าวใดร้อนแรงไปกว่าข่าวของ แจ็ก หม่า ประธานกรรมการบริหารอาลีบาบากรุ๊ป เดินทางมาประเทศไทย
การเดินทางมาของนักธุรกิจและมหาเศรษฐีระดับโลกในครั้งนี้ไม่ใช่การเดินทางมาเพื่อพักผ่อน แต่เป็นการมาแบบมีพันธสัญญา คือ มาลงนามในความร่วมมือบันทึกความเข้าใจหรือ MOU ระหว่างภาครัฐกับอาลีบาบากรุ๊ป ในโครงการ Smart Digital Hub บริเวณพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าการลงทุน 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้และกำหนดแล้วเสร็จในปีหน้า รวมถึงลงนามความร่วมมือในการพัฒนาการท่องเที่ยวและบุคลากรในไทย
การที่ แจ็ก หม่า เดินทางมาด้วยตัวเอง พร้อมกับเม็ดเงินจำนวนมหาศาลและคณะทำงานเต็มรูปแบบทำให้หลาย ๆ ท่าน “ตื่นตระหนก” กับการมาเยือนในครั้งนี้ว่า เขาจะมาเยือนอย่างมิตรหรือไม่ ? โดยเฉพาะในคราวนี้เขาไม่ได้มาเยือนในรูปแบบของการเยี่ยมชม แต่ในรูปแบบของการลงทุน ไม่ได้เป็นแขกของบริษัทเอกชน แต่ถูกเชิญมาโดยรัฐบาลไทย ด้วยส่วนประกอบดังกล่าวทำให้หลาย ๆ คนคิดต่อและสรุปไปได้ว่า “เขามาเพื่อยึดครอง” และประเทศไทยจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์มากกว่ากัน ? คงเป็นคำถามที่หลาย ๆ คนมองหาคำตอบ
ถ้าย้อนกลับไปดูในข้อมูลของประวัติศาสตร์ จะพบว่า “ผู้มาเยือน” นั้นมักจะถูกผูกพันเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องไม่ดีอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น การล่าอาณานิคม การแทรกแซง การรุกราน ดังนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติที่สัญชาตญาณในตัวเราจะทำให้เรารู้สึกระแวงระวังผู้มาเยือนอย่างอัตโนมัติ
แต่ถ้าเรามอง “ผู้มาเยือน” ผ่านมุมมองที่เป็นกลาง ด้วยสายตาของความเข้าใจ และใช้เวลาวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนและรอบด้าน จะพบข้อเท็จจริงที่ว่าการที่รัฐบาลไทยได้ตกลงความร่วมมือกับอาลีบาบากรุ๊ปในครั้งนี้ ไม่ใช่ว่าเขามีชื่อเสียง เป็นยักษ์ใหญ่และมีเงินเยอะ
แต่เพราะอาลีบาบากรุ๊ปเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันให้ผู้ประกอบการ OTOP ของประเทศจีนและประชาชนในชนบทกว่า 300 ล้านคน ให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง (middle income trap) ภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี ด้วยโครงการ “หมู่บ้านเถาเป่า” (Taobao Village) ตามนโยบายของ แจ็ก หม่า ที่กล่าวว่า “การปฏิรูปชนบท คือการเปลี่ยนแปลงสังคมในชนบท”
“หมู่บ้านเถาเป่า” คือโครงการพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซในชนบทของอาลีบาบากรุ๊ป โดยได้คัดเลือกจากพื้นที่ที่มีสินค้าท้องถิ่นที่โดดเด่นและได้นำสินค้านั้นไปแสดงและจำหน่ายบนเว็บไซต์สินค้าออนไลน์ มีการก่อตั้งครั้งแรก 3 แห่ง เมื่อปี 2552 เมื่อเวลาผ่านไป 8 ปี มีจำนวนหมู่บ้านเพิ่มขึ้นมากถึง 2,151 แห่ง
ได้ขจัดความยากลำบากของประชากรในชุมชน ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนที่อยู่ในชนบทกว่า 264 แห่ง และทำให้วัยรุ่นที่ออกมาทำงานในเมืองใหญ่ต่างต้องการกลับบ้านเกิด เพื่อสร้างสถานะในการเป็นผู้ประกอบการแบบใหม่ ที่ไม่เหมือนเช่นอดีตที่มี location เป็นกำแพงในการเข้าถึงตลาด เพราะโลกของอีคอมเมิร์ซทลายกำแพงนี้ไปทั้งหมด และการลงทุนของอาลีบาบากรุ๊ปครั้งนี้ คือการหยอดน้ำมันให้กับเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยถึง 5 ภาคส่วนด้วยกัน ได้แก่
1.การเกษตรและอาหาร : ผลไม้ไทยและอาหารไทยมีชื่อเสียงติดอันดับโลก แต่ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้ตลาดเติบโตคือการขนส่งที่รวดเร็ว เพราะถ้าผลไม้ไม่สด หรืออาหารหมดความอร่อยไปแล้วก็เท่ากับว่าภาคส่วนนี้ถูกคุมกำเนิด ศูนย์ Smart Digital Hub ในพื้นที่ EEC จะอาศัยเทคโนโลยีระดับโลกของอาลีบาบาในด้านการประมวลข้อมูลโลจิสติกส์ เพื่อทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีนรวดเร็วชนิดวันต่อวัน รวมไปถึงการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) และไปยังที่อื่นทั่วโลก
2.การศึกษา : คนไทยเป็นคนที่มีศักยภาพสูง ความรู้ความสามารถไม่แพ้ชาติไหนในโลก เพียงแต่ว่าอาจจะขาดการสนับสนุนที่เหมาะสม อาลีบาบากรุ๊ปจึงได้ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในการพัฒนากลุ่มคนเก่งหรือดาวเด่นด้านดิจิทัล (digital talent) ภายใต้การดูแลของวิทยาลัยธุรกิจอาลีบาบา หรือ Alibaba Business School (ABS) และจะเปิดโอกาสให้นักศึกษา นักวิจัย อาจารย์รวมถึงผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมพัฒนาในด้านดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซที่ประเทศจีนอีกด้วย
3.สร้างผู้ประกอบการดิจิทัลอีคอมเมิร์ซ : ผู้ประกอบการในทั้งสามภาคส่วนได้แก่ OTOP SMEs และ Start up จะได้เรียนรู้และเสริมทักษะการใช้เทคโนโลยีไทยให้สามารถเข้าถึง regional global value chain โดยอาลีบาบากรุ๊ปจะจัดทีมงานร่วมลงพื้นที่กับทีมของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยใช้เครือข่าย ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 สู่อนาคต (Industry Transformation Center: ITC) เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
4.การท่องเที่ยวเมืองรอง : จังหวัดลำปาง ลำพูน เชียงราย ก็มีความสวยงามไม่แพ้เชียงใหม่ที่เป็นเมืองหลัก อาลีบาบากรุ๊ปจึงได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการจัดทำ Thailand Tourism Platform บนออนไลน์แพลตฟอร์มท่องเที่ยวของอาลีบาบาที่ชื่อ Fliggy (ชื่อเดิมคือ Alitrip) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ เช่น การจองรถ จองโรงแรม จ่ายค่าอาหารให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีน และประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวชาวจีนอยากสัมผัสประสบการณ์ของการท่องเที่ยวในเมืองรอง
5.การส่งออกข้าว : ข้าวไทยกำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในจีน กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับอาลีบาบากรุ๊ปในการเปิดตัว Thai Rice Flagship Store บนเว็บไซต์ Tmall.com เพื่อสนับสนุนการขายข้าวไทยทางออนไลน์ในจีน ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวสามารถเข้าถึงตลาด E-commerce ในจีนได้อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากภาคส่วนดังกล่าวข้างต้นจะได้รับประโยชน์ไปเต็ม ๆ แล้ว เชื่อว่าจะมีอีกหลายภาคส่วนที่ได้รับผลพลอยได้จากการมาลงทุนครั้งนี้ เช่น ภาคการผลิตก็สามารถกระจายสินค้าได้มากขึ้น ภาคการเงินก็จะเติบโตเพราะผู้ประกอบการขยายธุรกิจ ภาคการบริการก็จะมีงานให้ทำเพื่อบริการนักท่องเที่ยวมากขึ้น และอีกมากมายตามมาเป็นห่วงโซ่
ซึ่งถ้าเป็นไปตามกรอบที่วางแผนไว้ด้วยดี ปัจจัยทั้งหมดจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาผงาดอีกครั้งและทำให้ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล
การลงนาม MOU ในครั้งนี้เป็นประกาศภาระที่ต้องทำ ไม่ใช่ประกาศความสำเร็จ จึงยังมีงานอีกมากที่รัฐบาลและอาลีบาบากรุ๊ปต้องเดินไปข้างหน้า ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีอุปสรรคระหว่างทางบ้างเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้ามองว่าอุปสรรคเป็นความท้าทายและเมื่อเผชิญอุปสรรคทั้งสองฝ่ายจับมือฟันฝ่าไปด้วยกันโดยมุ่งไปที่เป้าหมายเดียวกัน เพื่อสร้างการเติบโตก้าวใหม่ให้กับประเทศไทย
และเราที่เป็นผู้ประกอบการไทยต้องเล่นเกมนี้ให้เป็น โดยใช้โอกาสจากการเข้ามานั้น แทรกซึมการเรียนรู้วิธีคิดในการเข้าถึงตลาดแบบใหม่ ด้วยเครื่องมือและ technology ของอาลีบาบากรุ๊ปในการเข้าถึงโอกาสใหม่บนความท้าทายใหม่ เพราะสุดท้ายแล้ว หากเขาไม่เข้ามาในวันนี้ วันข้างหน้าเขาก็เข้ามาอยู่ดี
ดังนั้นเราต้องต้อนรับแบบเพื่อนที่เขาเกรงใจ ดีกว่าปล่อยให้เข้ามาแบบทุ่มตลาดเองโดยเราไม่ได้อะไรเลยระหว่างนี้ขึ้นอยู่ว่าเราเตรียมความพร้อมได้ดีแค่ไหน ทุกวันนี้เรามีสินค้าอะไรที่พร้อมและเชื่อมโยงกับเขาได้บ้าง เราจะใช้โอกาสนี้ในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของเราในรูปแบบใดได้บ้าง
ผู้ชนะอาจไม่มีชีวิตอยู่รอดเสมอไป ผู้ที่อยู่รอดคือผู้ชนะที่แท้จริง วันนี้เราต้องเตรียมความพร้อมตัวเองให้อยู่รอดและแข่งขันได้
แจ็ก หม่า พูดบนเวทีทิ้งท้ายได้น่าสนใจและเราต้องนำมาคิดต่อว่า “เมื่อก่อนเป็น Made in USA Made in China Made in Thailand แต่จากนี้ไปจะเป็น Made in internet”