คริปโทเคอร์เรนซี 101 การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (6)

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย www.lawreform.go.th

ในปัจจุบันได้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset) รูปแบบ cryptocurrency (เรียกกันว่าเงินดิจิทัล เงินเสมือน หรือเงินคริปโท) และ digital token (เหรียญโทเคน โทเคนดิจิทัล หรือดิจิทัลโทเคน) ซึ่งเป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องดำเนินการผ่านกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์อันมีความซับซ้อนมาใช้ในการประกอบธุรกิจและกระทำกิจกรรมทางการเงินและเศรษฐกิจอย่างแพร่หลายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไป หรือแม้กระทั่งผู้ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเอง ยังขาดความรู้ความเข้าใจในหลักการและการดำเนินการของสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสนและความเสียหายต่อทรัพย์สินส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจได้

สินทรัพย์ดิจิทัลไม่มีลักษณะทางกายภาพ ธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดจะกระทำผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และประมวลผล เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและยืนยันการทำธุรกรรมนั้น ๆ ด้วยคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่เชื่อมโยงกันในเครือข่าย

วิธีการบันทึกผลแบบกระจายส่วนนี้ (distributed ledger) ต่างจากระบบการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ผ่านธนาคารพาณิชย์หรือผู้ให้บริการทางการเงินอื่นที่ใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งเป็นการรวมศูนย์ข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์ (server) โดยมีหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจรับผิดชอบการบริหารจัดการข้อมูลดังกล่าว

ในขณะนี้มีสินทรัพย์ดิจิทัล 2 ประเภทที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งที่ใช้เพื่อการเก็งกำไร การแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าและบริการและการระดมทุน กล่าวคือ cryptocurrency ซึ่งมีราคาหรือมูลค่าซึ่งถือเอาได้ และใช้เป็นสื่อกลางเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคล เช่น bitcoin, ether, ripple หรือ litecoin และ digital token ซึ่งเป็นหน่วยแสดงสิทธิในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าและบริการ เช่น JFIN Coin หรือ Tuk Tuk Pass-A เป็นต้น

การประกอบธุรกิจ-ทำธุรกรรมโดยที่ cryptocurrency และ digital token แต่ละชนิดมีความแตกต่างกันในสิทธิ หน้าที่และผลประโยชน์ที่ผู้ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ๆ พึงได้รับ ประกอบกับกระแสและความเชื่อในระดับราคาซื้อขายของสินทรัพย์ดิจิทัลบางชนิดที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเริ่มมีผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลในลักษณะให้บริการและอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมระหว่างผู้ระดมทุน ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล และประชาชนทั่วไปอย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยอาจสรุปโครงสร้างการประกอบธุรกิจและการทำธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยได้ดังนี้

ประเภทของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เปิดดำเนินการเป็นประเภทแรกในประเทศไทยคือ ธุรกิจผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency dealer) ให้บริการรับซื้อและขาย cryptocurrency โดยหากำไรจากส่วนต่างของราคาซื้อและราคาขายเป็นหลัก (อาจมีการเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการด้วยก็ได้) ในลักษณะเดียวกับผู้ค้าเงินตราต่างประเทศ (Forex dealer) ในประเทศไทยมีผู้ค้า cryptocurrency รายใหญ่ 2 รายคือ Coins.co.th และ Bitcoin.co.th

ทั้ง 2 รายให้บริการซื้อขาย cryptocurrency ชนิด bitcoin เป็นหลัก และมีบริการโอนเงินเข้าและออกจากบัญชีธนาคารของลูกค้าไปสู่กระเป๋าเงินดิจิทัล (digital wallet) ของผู้ให้บริการซึ่งมีทั้งลูกค้าชาวไทยและต่างประเทศสมัครเป็นสมาชิกและมีบัญชีซื้อขายส่วนตัวรวมกันกว่า 1 ล้านบัญชี โดยจุดประสงค์หลักของการใช้บริการเพื่อการโอนเงินข้ามประเทศได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการโอนเงินผ่านธนาคารพาณิชย์

โครงสร้างระบบการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ที่ประสงค์จะถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการลงทุนมักนำเงินบาทมาแลกเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น cryptocurrency หรือ digital token จากศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (electronic trading platform) ซึ่งให้การอำนวยความสะดวกในการจับคู่ผู้ที่ต้องการซื้อและผู้ที่ต้องการขายสินทรัพย์ดิจิทัลชนิดเดียวกัน โดยเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการเป็นการค้าปกติ ในลักษณะเทียบเคียงได้กับตลาดหลักทรัพย์ (stock exchange) แม้ว่าในปัจจุบัน นักลงทุนเป็นผู้ส่งคำสั่งซื้อขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ด้วยตัวเอง

แต่แนวโน้มของการพัฒนาตลาดซื้อขายสินทรัพย์ลำดับรองบ่งชี้ว่า ในอนาคตอาจมีธุรกิจประเภทนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset broker) ให้บริการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนเพื่อซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่ผู้อื่นด้วย

สำหรับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยมีอยู่หลายราย แต่มี 2 รายหลักที่ได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศคือ Bx.in.th และ Tdax.com โดยมีปริมาณซื้อขายรวมรายวันประมาณ 150 ล้านบาท และ 50 ล้านบาทตามลำดับ

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม


คริปโทเคอร์เรนซี 101 ผลกระทบสังคม-เศรษฐกิจ (5)