ฟางเส้นสุดท้าย เมื่อทีวีดิจิทัลไม่เปรี้ยง

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

จากธุรกิจที่เคยเป็นความหวัง แย่งกันทุ่มเงินก้อนโต กับการเป็นเจ้าของทีวีสักช่อง ผ่านมา 4 ปีเต็ม ๆ วันนี้ “ทีวีดิจิทัล” กลายเป็นธุรกิจที่กำลังดิ้นรนอย่างหนัก ประเมินว่าจากทั้งหมด 24 ช่องที่ได้ไลเซนส์สัมปทานไป มีที่เดินหน้าทุ่มเทจริงจังไม่ถึง 1 ใน 3 ส่วนที่เหลือมีทั้งตัดใจทิ้งไลเซนส์ไปแล้ว กลุ่มที่คิดว่าขืนสู้ต่อไปอาจไม่เหลืออะไร ใช้วิธีเอารายการเก่า ๆ มารีรัน ออกอากาศซ้ำ เพื่อไม่ให้ผิดสัญญา กลุ่มที่รอทุนใหม่เข้ามาเซ้งช่อง และเฝ้ารอว่าเมื่อไหร่ คสช.ถึงจะใช้ ม.44 มาปัดเป่า (เสียที)

ประมวลความเคลื่อนไหวช่องต่าง ๆ ช่อง 7 ยังเกาะกุมฐานคนดูต่างจังหวัด ซึ่งเป็นฐานใหญ่ที่สุดของประเทศไว้ เนื้อหารายการผลิตขึ้นมาจึงมุ่งตอบสนองคนกลุ่มนี้เป็นหลัก และถึงแม้จะเป็นเบอร์ 1 ของวงการอย่างเหนียวแน่น แต่ที่ผ่านมาช่อง 7 สูญเสียคนดูไปให้ช่องอื่น ๆ ไม่น้อย

กลุ่มมาลีนนท์ ซึ่งมีทีวีในมือ 3 ช่อง ชัดเจนแล้วว่าทุ่มกำลังไปที่ช่อง 33 เป็นหลัก เพราะเอเยนซี่โฆษณายังพร้อมเทงบฯให้ (ข้อแม้คือรายการนั้นต้องดึงคนดูได้จริง ๆ ) และพยายามประคับประคองช่อง 28 ส่วนช่อง 13 แฟมิลี่ ไม่ได้อยู่ในโฟกัสนานแล้ว

ด้าน 4 ช่องใหม่อย่างเวิร์คพอยท์ทีวี, โมโน 29, ช่องวันของแกรมมี่, รวมถึงช่อง 8 ของอาร์เอส ซึ่งเรตติ้งคนดูอยู่ในกลุ่มน่าจะเอาตัวรอดจากธุรกิจนี้ได้ เช่นกัน โดยเฉพาะเวิร์คพอยท์ และช่องวัน มีเสียงตอบรับจากตลาดโฆษณาอยู่ในเกณฑ์น่าสนใจ

เมื่อมองถึงทิศทางที่เกิดขึ้น ทั้งเวิร์คพอยท์และโมโน 29 มุ่งมั่นอยู่กับแนวทางของตัวเอง รายแรกหนักแน่นอยู่กับวาไรตี้โชว์ ส่วนรายหลังมุ่งไปที่หนังดังจากต่างประเทศ แต่สำหรับแกรมมี่ และอาร์เอส ดูเหมือนกำลังปรับโฟกัสใหม่ ในรายของมือเก่าอย่างแกรมมี่ หลังจากขายหุ้นช่องวัน และจีเอ็มเอ็ม 25 ให้กับผู้ถือหุ้นใหม่ มีความชัดเจนว่ากำลังหวนกลับไปเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์รายการในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นจุดที่แกรมมี่มีความแข็งแกร่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

วงในแกรมมี่เชื่อว่าด้วยเม็ดเงินโฆษณาในท้องตลาดที่มีอยู่จำกัด แถมยังมีคู่แข่งมาเบียดแย่งอยู่ตลอดเวลา ทำให้การแข่งขันกันแย่งเม็ดเงินดุเดือด ต่างจากการผลิต “คอนเทนต์” รายการที่ยังมีช่องทางเติบโตได้อีกและมีคู่แข่งที่มือถึงจริง ๆ ไม่มาก เช่นเดียวกับคนในค่ายอาร์เอสยืนยันว่า พักหลัง ๆ “ลูกรัก” ของเฮียฮ้อตอนนี้ไม่ใช่ช่อง 8 แต่เป็น “สารพัดครีม” ที่มียอดขายเติบโต และผลกำไรก็งดงาม

วงการทีวี และถุงเงินใหญ่ที่คอยหล่อเลี้ยงอย่างเอเยนซี่โฆษณา มองทะลุว่าทั้ง 6 ช่องข้างต้นน่าจะเอาตัวรอดไปได้อย่างแน่นอน จะมีที่สาหัสกว่าคนอื่น ๆ คือกลุ่มบีอีซีเวิลด์ที่มีถึง 3 ช่องในมือ ทำให้เกิดอาการสำลักต้นทุนอย่างหนัก

ประวิทย์ มาลีนนท์ หัวขบวนบีอีซีเวิลด์ ที่แม้จะขายหุ้นในมือออกไปทั้งหมด แต่คนสนิทในช่องยืนยันว่า ณ วันนี้ “นาย” ของพวกเขายังร่วมหัวจมท้ายต่อไป และยังไม่มีสัญญาณว่าจะล้างมือจากช่อง 3 ในระยะเวลาอันใกล้นี้

ในขณะที่ประวิทย์เพิ่งให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว…

ถึงตอนนี้มองว่ามีทีวีดิจิทัลอยู่ 12 ช่องน่าจะไปต่อได้ ในจำนวนนี้มีอยู่ 6 ช่องที่เอาตัวรอดได้แล้ว เป็นผู้ประกอบการในกลุ่มเดิม ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจนี้มาก่อน ทั้งยังส่งซิกไปถึงช่องที่เรตติ้งต่ำฟลอร์มาอย่างต่อเนื่อง ให้รีบมองหาทางถอยให้กับตัวเอง เป็นคำย้ำเตือนที่คนในวงการล้วนรู้ดี จะทำอะไรก็ทำเสียตั้งแต่ตอนนี้ ก่อนทุกอย่างจะสายเกินแก้