คริปโทเคอร์เรนซี 101 การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (7)

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย www.lawreform.go.th

นอกเหนือจากการลงทุนในตลาดลำดับรอง ผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ในตลาดแรก (primary market) กล่าวคือ การซื้อ digital token ออกใหม่ที่มีการเสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไป (initial coin offerings หรือ ICO) โดยผู้เสนอขายอาจนำ cryptocurrency หรือเงินบาทที่ได้จากการระดมทุนไปพัฒนาสินค้า โครงการ หรือบริการ โดยเสนอผลประโยชน์ในสินค้า โครงการ บริการ หรือสิทธิอื่นใดต่อผู้ลงทุนเป็นการตอบแทนการทำ ICO

อาจเทียบเคียงลักษณะได้กับการเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ต่อประชาชน (initial public offering หรือ IPO) เพื่อให้การเสนอขาย digital token ต่อประชาชนได้มาตรฐานและมีความน่าเชื่อถือ ผู้เสนอขายจะเสนอขายผ่านผู้ให้บริการคัดกรอง (ICO portal) โดยต้องมีการส่งข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสนอขาย การดำเนินกิจการ โครงการ หรือสินค้าและบริการ เพื่อให้ผู้ลงทุนพิจารณา (white paper) ซึ่งอาจเทียบเคียงลักษณะได้กับหนังสือชี้ชวนสำหรับการเสนอขายหลักทรัพย์ (prospectus)

ในขณะนี้ มีการเสนอขาย digital token โดยบริษัทไปแล้วอย่างน้อยสองรายคือ OmiseGo (โอมิเซะโกะ) ซึ่งเป็นการระดมทุนจำนวน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 800 ล้านบาท) เพื่อสร้างระบบชำระเงิน โอนเงิน และการให้บริการธุรกรรมทางธนาคารอื่น ๆ ผ่านระบบบล็อกเชน อย่างไรก็ตาม การออกเสนอขายเหรียญ OMG ของ OmiseGo เมื่อกลางปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา ไม่ได้กระทำผ่าน ICO portal ของไทย และกว่าร้อยละ 90 ของปริมาณการซื้อขายเหรียญ OMG เกิดขึ้นในต่างประเทศ นอกจากนั้นยังมีบริษัทเจเวนเจอร์ส (J Ventures Co.,Ltd.) ซึ่งเสนอขายโทเคนดิจิทัล (JFin Coin) จำนวน 100 ล้านหน่วย ในราคาหน่วยละ 20 เซนต์ (US cents) รวมมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท และได้เปิดจองล่วงหน้าผ่านระบบคัดกรองของผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขาย Tdax เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบกิจการในประเทศไทยแสดงความจำนงเสนอขาย digital token อีก 5-6 รายภายในปี พ.ศ. 2561 นี้

อย่างไรก็ตาม ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลอีกหลายประเภท เช่น การประกอบกิจการสร้างโรงงานถลุงบิตคอยน์ หรือ cryptocurrency ประเภทอื่นใดที่ต้องใช้การถลุงเพื่อให้ได้มาซึ่ง cryptocurrency สกุลนั้น ๆ การให้บริการจัดเก็บและบริหารจัดการสินทรัพย์ดิจิทัล (custodian หรือ digital wallet) ซึ่งอาจเป็นบริการหนึ่งที่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลจัดให้มี หรือเป็นผู้ให้บริการแยกต่างหากเฉพาะการจัดเก็บและการบริหารจัดการสินทรัพย์ดิจิทัลก็ได้ และระบบการชำระเงินด้วย cryptocurrency เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในประเทศไทยธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลที่กระทำกันอย่างแพร่หลายมากที่สุดในขณะนี้ คงหนีไม่พ้นการเก็งกำไรมูลค่าและราคาของ cryptocurrency และ digital token ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ในตลาดแรกจากผู้เสนอขาย digital token ผ่านกระบวนการ ICO หรือซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาดรอง แนวทางการควบคุมและกำกับจึงต้องเป็นไปเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพของการทำธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล การรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ และป้องกันภัยอันตรายในทรัพย์สินของประชาชนจากการโจรกรรมทางคอมพิวเตอร์ เพื่อเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงแนวทางการกำกับควบคุมดังกล่าวที่มีการปฏิบัติใช้อยู่ในปัจจุบัน

ในตอนต่อไปซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของซีรีส์ cryptocurrency 101 ผู้เขียนขอเสนอแนวคิดด้านการกำหนดนโยบายและความจำเป็นในการควบคุมกำกับธุรกรรมและกิจการที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นการกระตุ้นบทสนทนาและความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐเพื่อสร้างสรรค์โครงสร้างทางกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง