อลังการงานสร้าง บ้านหลังที่ 3 สนามบินกระบี่

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย ประเสริฐ จารึก

วันก่อนมีโอกาสได้ใช้บริการ “สนามบินกระบี่” ที่ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวไทยและเทศที่หลงมนต์เสน่ห์ทะเลอันดามัน วันนั้นนั่งสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” หนึ่งในสายการบินยอดฮิตของนักเดินทาง ถึงจะเป็นไฟลต์เช้า แต่ก็มีผู้โดยสารเต็มทุกที่นั่ง

ปัจจุบัน “สนามบินกระบี่” เปิดบริการเป็นสนามบินนานาชาติ มีทั้งเส้นทางบินในประเทศและระหว่างประเทศ โดยภายในประเทศ มี 7 สายการบินให้บริการ มีไทยแอร์เวย์ ไทยแอร์เอเชีย ไทยสมายล์ ไทยไลอ้อนแอร์ บางกอกแอร์เวย์ส นกแอร์ และไทยเวียดเจ็ทแอร์

ส่วนระหว่างประเทศ มี 10 สายการบินให้บริการ มีแอร์เอเชีย สกู๊ตไทยเกอร์แอร์ ไชน่าอีสเทิร์นแอร์ไลน์ เสฉวนแอร์ไลน์ IKAR AIRLINES นิวเจนแอร์เวย์ส สปริงแอร์ไลน์ รอยัลไฟลต์ ไลอ้อนแอร์ และ Azur Air แต่ละวันมีจำนวนเที่ยวบินไปกลับต่อวัน อยู่ที่ 100 เที่ยวบินโดยประมาณ

ส่วนสถิติผู้โดยสารในปี 2560 มีผู้ใช้บริการกว่า 4.3 ล้านคน และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในระยะ 10 ปี เพิ่มขึ้นกว่า 22.15% จากปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ขณะนี้ “กรมท่าอากาศยาน” หน่วยงานที่กำกับดูแล กำลังปรับปรุงขยายพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังเดิมให้กว้างขึ้น

“ดรุณ แสงฉาย” อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า สนามบินภูมิภาคที่อยู่ในความดูแลของกรมมี 28 แห่ง ซึ่งกระบี่เป็นสนามบินที่สร้างรายได้ให้กรมมากที่สุด เนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจการบินเติบโตสูง

ล่าสุดกรมได้ลงทุน 4,889 ล้านบาท เพิ่มประสิทธิภาพสนามบินให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้นอีก โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือน ก.ค.นี้ เป็นต้นไป จะก่อสร้างลานจอดเครื่องบิน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน วงเงิน 1,350 ล้านบาท ให้รองรับเครื่องบินโบอิ้ง 737 ได้ 20 ลำ จากเดิม 10 ลำ และก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3 มีพื้นที่ใช้สอย 41,800 ตร.ม. ปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 1 และ 2 ให้เชื่อมต่อกัน พร้อมสร้างอาคารจอดรถยนต์ วงเงิน 3,539 ล้านบาท

เมื่อแล้วเสร็จจะรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น จากเดิม 1,500 คนต่อชั่วโมง เป็น 3,000 คนต่อชั่วโมง หรือรองรับผู้โดยสารได้ 8 ล้านคนต่อปี

“กรมเปิดประมูลและได้ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่แล้ว คือ บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น อยู่ระหว่างตรวจสอบรายละเอียด จะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2563 ส่วนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ กรมอยู่ระหว่างพิจารณาอาจจะเปิดให้เอกชนร่วมทุนรูปแบบ PPP”

อธิบดีกรมท่าอากาศยานยังฉายภาพให้ฟังว่า ปัจจุบันปริมาณการเดินทางทางอากาศมีอัตราการเติบโตอย่าง

ต่อเนื่อง จากปรากฏการณ์เติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำหรือโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ ที่เทรนด์การเดินทางจะมาทางนี้หมดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีการประเมินว่าจะเติบโตแบบนี้อีก 5-10 ปี โดยเฉลี่ยปีละ 7%

“ปี 2560 ผู้โดยสาร 28 สนามบินของกรม มีผู้ใช้บริการ 18.6 ล้านคน เติบโตจากปี 2559 มีผู้โดยสาร 17 ล้านคน และมีรายได้จากค่าธรรมเนียมขึ้นลงของอากาศยาน ที่เก็บอากาศยานและค่าเช่าพื้นที่ ค่าธรรมเนียมผู้โดยสารอยู่ที่ 1,400 ล้านบาท มีกำไร 600 ล้านบาท ในปี 2561 คาดว่าผู้โดยสารและรายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 7%”

จากความแออัดทางอากาศและภาคพื้นที่มีคนมาใช้บริการจำนวนมากในแต่ละภูมิภาค ที่ผ่านมากรมท่าอากาศยานได้ของบประมาณมาพัฒนาศักยภาพทุกสนามบิน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง ในปี 2561 ได้รับงบประมาณกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงสนามบินกระบี่ด้วย


รอลุ้นเมื่อสร้างเสร็จ จะคุ้มค่าสมราคามากน้อยแค่ไหน