การค้าชายแดนแม่สอดยังสดใส

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก

ด่านพรมแดนแม่สอด เป็นด่านพรมแดนทางบก ติดกับด่านการค้าเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา และจุดการค้าผ่านแดนถาวร อ.แม่สอด ตั้งอยู่ที่บ้านริมเมย ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก

ด่านพรมแดนนี้อยู่ในความรับผิดชอบของด่านศุลกากรแม่สอด เปิดให้บริการประชาชนสามารถเดินข้ามผ่านแดนไทย-เมียนมาได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.30-20.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ ซึ่งทำให้เกิดความคล่องตัวในการค้าขาย นอกจากนี้การเปิดใช้เส้นทางการเชื่อมโยงจากด่านแม่สอดเข้าสู่เมืองกอกะเร็กของเมียนมา ซึ่งมีส่วนเพิ่มความคล่องตัวทางการคมนาคมขนส่งได้อย่างมาก

ด่าน อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นด่านพรมแดนที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยไปเมียนมาสูงสุด ด้วยสัดส่วนร้อยละ 70 โดยผู้เชี่ยวชาญคาดว่าการค้าชายแดนด่านแม่สอดยังมีแนวโน้มส่งออกที่สดใสในปีนี้

จากสถิติการค้าชายแดนด่าน อ.แม่สอด พบว่ามี มูลค่าการค้ารวมเดือนเมษายน 2560 มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 7,121.98 ล้านบาท ลดลงจากเดือนที่แล้ว 822.51 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.35 (เดือนมีนาคม 2560 มูลค่า 7,944.49 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 1,318.14 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22.71 (เมษายน 2559 มูลค่า 5,803.84 ล้านบาท)

การส่งออก เดือนเมษายน 2560 มีมูลค่าการส่งออก 6,805.46 ล้านบาท ลดลงจากเดือนที่แล้ว 688.20 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.18 (มีนาคม 2560 มูลค่า 7,493.66 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 1,255.18 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22.61 (เมษายน 2559 มูลค่า 5,550.28 ล้านบาท)

เดือนเมษายน 2560 มีสินค้าส่งออกสูงสุด 10 อันดับ ได้แก่ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง, รถจักรยานยนต์, น้ำตาลทราย, น้ำมันเบนซิน, เบียร์, น้ำมันดีเซล, รองเท้าแตะ, ผ้าทอโพลีเอสเตอร์, กระเบื้องปูพื้น และก๊าซปิโตรเลียมเหลว

เปรียบเทียบส่งออก เดือนมกราคม-เมษายน 2560 มีมูลค่าการส่งออก 27,894.40 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 2,642.35 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.46 สินค้าส่งออกสูงสุด 5 อันดับ คือ น้ำตาลทราย, เครื่องดื่มบำรุงกำลัง, โทรศัพท์มือถือพร้อมอุปกรณ์ รถจักรยานยนต์ และเบียร์

การนำเข้า เดือนเมษายน 2560 มีมูลค่าการนำเข้า 316.52 ล้านบาท ลดลงจากเดือนที่แล้ว 134.31 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 29.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 62.96 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.83

เดือนเมษายน 2560 มีสินค้านำเข้าสูงสุด 10 อันดับ คือ เมล็ดถั่วลิสง พลวงอ๊อกไซด์ โทรศัพท์มือถือ เฟอร์นิเจอร์ประดิษฐ์จากไม้ มะขามเปียก โค-กระบือมีชีวิต ถังเปล่าใช้เป็นภาชนะบรรจุก๊าซ ถั่วเขียวผิวมัน หอยแครงมีชีวิต และรถจักรยานเก่าใช้แล้วยังไม่ได้ปรับสภาพ

เมื่อเปรียบเทียบการนำเข้า เดือนมราคม-เมษายน 2560 มีมูลค่าการนำเข้า 1,607.01 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 297.40 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22.71 สินค้านำเข้าสูงสุด 5 อันดับ คือ ถั่วลิสง โค-กระบือมีชีวิต เฟอร์นิเจอร์ประดิษฐ์จากไม้ พลวงอ๊อกไซด์ และโทรศัพท์มือถือพร้อมอุปกรณ์

ดุลการค้า เดือนเมษายน 2560 ไทยได้ดุลการค้ามีมูลค่า 6,488.95 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว ลดลง 553.88 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.86 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 1,192.23 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22.51 เปรียบเทียบดุลการค้าเดือนมกราคม-เมษายน 2560 มีดุลการค้ามูลค่า 26,287.39 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 2,344.95 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.79

เมื่อเปรียบเทียบดูจากสถิติตัวเลขแล้ว ยังเห็นว่าวิกฤตเศรษฐกิจในเมียนมาและจากประเทศใกล้เคียงยังไม่ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนแม่สอด-เมียวดีมากนัก ยอดการค้าส่งออกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่หวือหวาแต่ยังคงสะท้อนถึงความต้องการสินค้าจากประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าพวกอุปโภคบริโภค เครื่องดื่มต่าง ๆ ที่มียอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น สินค้าอุปกรณ์การเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำตาลทราย เป็นสินค้าที่ตลาดในเมียนมาต้องการมากที่สุด มีการส่งออกเดือนละกว่า 1,000 ล้านบาท มีการส่งผ่านเมียนมาเข้าสู่ตลาดจีนและประเทศอื่น ๆ ด้วย

นอกจากนั้นเมียนมายังมีการสั่งรถจักรยานยนต์นำเข้า เพราะการสัญจรในพม่าจำเป็นต้องใช้ยานพาหนะชนิดนี้มากขึ้น และยังเกี่ยวข้องไปถึงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมของพม่า ยังไม่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง บางเส้นทางยังจำเป็นต้องใช้รถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะการติดต่อเดินทางระหว่างหมู่บ้านกับหมู่บ้าน จึงเห็นได้ว่าสินค้านำเข้าของเมียนมาปัจจุบันสะท้อนความต้องการของเมียนมาในการพัฒนาประเทศทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันสินค้าขั้นต้นขั้นกลาง เพื่อใช้ในทางอุตสาหกรรม เช่น เม็ดพลาสติก เป็นสินค้าส่งออกดาวรุ่ง เนื่องจากเป็นที่ต้องการของเมียนมามากขึ้นจากการลงทุนภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในขณะที่เมียนมายังขาดแคลน เพราะยังไม่มีโรงกลั่นและโรงงานปิโตรเคมี

อย่างไรก็ดี ความต้องการสินค้าของเมียนมายังเติบโตแข็งแกร่ง สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับการที่เมียนมาทยอยลดภาษีนำเข้าสินค้าจากอาเซียน จนรายการส่วนใหญ่ ปรับลดเหลือ 5% แล้วในขณะนี้ และจะลดเหลือ 0% ภายในปี 2561 ทำให้เป็นโอกาสของไทยที่จะขยายการขายสินค้าให้มากขึ้น