ไม่อยากเห็นใครเป็นหนี้

ภาพประกอบ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สมปอง แจ่มเกาะ

เปิดเทอมแล้ว! ถึงเวลาที่บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่อยู่ในวัยเล่าเรียนต้องควักกระเป๋าจ่ายหลายเรื่อง ไหนจะค่าเทอม ค่าเสื้อผ้า-รองเท้า อุปกรณ์การเรียนจิปาถะ และที่จะหนักหนาสาหัสมาก คงหนีไม่พ้นค่าโรงเรียนกวดวิชา

ที่ว่าหนักหนาสาหัส คงไม่มีใครปฏิเสธ คิดง่าย ๆ สำหรับนักเรียน ม.ปลาย ภาคปกติ ค่าเทอมที่เป็นตัวเลขกลม ๆ เบ็ดเสร็จจะอยู่ที่ประมาณ 3,500-4,000 บาท ไม่เกินนี้

ส่วนค่าเรียนกวดวิชา เอาแค่วิชาพื้นฐานฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คณิตศาสตร์ เบาะ ๆ เฉลี่ยคอร์สละไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 บาท เรียนกี่คอร์ส กี่วิชา ก็คูณเข้าไป

นี่ยังไม่รวมคอร์สพิเศษต่าง ๆ ทั้ง O-Net, PAT ความถนัดแพทย์ ความถนัดทางวิศวกรรม คอร์สตะลุยโจทย์ ฯลฯ เรียนตั้งแต่ ม.ต้น จนกว่าจะจบ ม.6 สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนเลือดตาแทบกระเด็น เพราะอยากให้บุตรหลานมีอนาคตที่ดี

แม้จะกระเบียดกระเสียร พยายามจะเก็บหอมรอมริบ แต่เงินก็ยังขาดมือ จึงไม่ต้องแปลกใจที่เปิดเทอมใหญ่เดือนพฤษภาคมเมื่อไหร่ โรงรับจำนำก็จะคึกคักเป็นพิเศษเมื่อนั้น

สำหรับเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา คนเบี้ยน้อยหอยน้อย คงไม่แคล้วที่จะต้องหันไปพึ่งพาโรงรับจำนำ หรือหากไม่มีสร้อยแหวนเงินทองไปตึ๊งก็ต้องจำใจวิ่งหาเงินกู้นอกระบบ ทั้ง ๆ ที่รู้ทั้งรู้ว่าดอกเบี้ยแสนแพงมหาโหด

วันก่อน นั่งอ่านข่าว “มติชน” อดใจหายไม่ได้ เขาพาดหัวว่า “ชาวปากน้ำโพแห่จำนำรถไถนา/โรงรับจำนำไม่มีที่เก็บต้องจัดคิว” พร้อมกับมีภาพประกอบ ของเครื่องยนต์การเกษตรที่วางอยู่เกลื่อนโรงรับจำนำ

พลางก็คิดในใจว่า…โถ พ่อคุณ ! ถึงขนาดต้องเอาเครื่องมือทำมาหากินไปจำนำเลยหรือ นี่ก็เข้าหน้าฝน ถึงเวลาที่จะได้ลงมือทำไร่ไถนาแล้วจะเอาอะไรมาทำมาหากินกันละทีนี้

อย่าว่าแต่ชาวไร่ชาวนาในต่างจังหวัดเลย คนชั้นกลาง-ชั้นล่าง ที่เข้ามาแสวงโชคในเมืองหลวงเมืองใหญ่ก็ต้องวิ่งเข้าโรงรับจำนำไม่ต่างกัน

ส่วนรายที่มีเครดิตดีมีบัตรกดเงินสดอยู่ในกระเป๋าสตางค์ก็สะดวกหน่อย เงินขาดมือเมื่อไหร่ก็วิ่งไปกดตามตู้เอทีเอ็มได้ทันใจ ไม่ต้องเดินย่อง ๆ เข้าโรงรับจำนำไปปั๊มหัวแม่โป้งให้มือเปื้อนหมึก แต่โดยสรุปก็เป็นหนี้เหมือนกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนได้อย่างหนึ่งว่า เศรษฐกิจที่รัฐบาลว่าดี ๆ และกำลัง take off เชิดหัวขึ้นนั้น มันยังดีไม่ทั่วถึง ดีเฉพาะบางธุรกิจบางอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่ใช่สำหรับเกษตรกรชาวไร่ชาวนา กระดูกสันหลังและคนส่วนใหญ่ของประเทศ และส่วนหนึ่งมาจากปัญหาหนี้สินที่มีมากเป็นทุนเดิม ไหนจะเป็นหนี้แบงก์ เป็นหนี้สหกรณ์ เป็นหนี้นอกระบบ

เงินทองหามาได้เท่าไหร่ก็ต้องเอาไปใช้หนี้โปะหนี้ก่อน เหลือจากใช้หนี้เท่าไหร่ถึงจะได้นำมาใช้จ่าย ซื้อของจำเป็น หรือเก็บไว้เป็นเงินทุนสำหรับการเพาะปลูกในปีต่อไป ซึ่งก็อย่างที่รู้ ๆ กันดีว่า ราคาพืชผลทางการเกษตรต่าง ๆ ก็ใช่ว่าจะสดใส บางปีฝนมาก บางปีน้ำน้อย บางปีโรคระบาด บางปีเห็นราคาดีก็แห่ปลูกกันจนล้นตลาด เอาแน่เอานอนไม่ได้ เป็นวัฏจักรเช่นนี้อยู่ร่ำไป

โลกในวันนี้ การทำการเกษตรแบบเดิม ๆ คงรุ่งยาก เพราะมีปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้เข้ามากระทบ

หากอยากหมดหนี้ ไม่อยากเป็นหนี้ นอกจากความช่วยเหลือที่ภาครัฐมีและหยิบยื่นให้แล้ว อีกด้านหนึ่งเกษตรกรชาวไร่ชาวนา จะต้องคิดใหม่ทำใหม่

อาจจะเริ่มจากการเลิกยึดติดกับการปลูกพืชเพื่อขายผลผลิต และหันมาปลูกและแปรรูปพืชผลทางการเกษตร เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า ขายได้ราคา ขณะเดียวกันก็พึ่งพาพ่อค้าคนกลางให้น้อยลง ใช้โอกาสจากการค้าขายผ่านโลกออนไลน์มาเป็นตัวช่วย ซึ่งก็มีคนที่ประสบความสำเร็จมามากต่อมากแล้ว

แต่ที่สำคัญ ควรมีวินัยทางการเงิน รู้จักบริหารรายรับรายจ่ายให้มีความสมดุล ไม่ก่อหนี้เกินตัว ต้องพยายามยืนอยู่ด้วยขาของตัวเองให้ได้