“ปตท.-มาสด้า-เอสซีบี” ทัพหน้าเปลี่ยนเกม…สู่อนาคต

ต้องยอมรับว่าการเข้ามาของดิจิทัลดิสรัปชั่นไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และธุรกิจโดยรวมของโลกใบนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจครั้งใหญ่ จนทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย ว่าหากองค์กรธุรกิจใด ๆ ก้าวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง จะทำให้ธุรกิจเกิดความเสียหาย บางรายอาจถึงขั้นล้มหายตายจาก

เพราะโลกแห่งความเป็นจริงในสหัสวรรษใหม่ที่จะอยู่รอด ไม่ใช่วัดกันที่ขนาดองค์กร จำนวนพนักงาน และการขยายสาขาอีกต่อไปแล้ว เพราะการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและดิจิทัลแพลตฟอร์ม จึงอยู่ที่การ transformation องค์กร เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้แค่เกิดในธุรกิจระดับโลก แต่ในประเทศไทยก็เช่นกัน อุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างรุนแรงและรวดเร็วเวลานี้ คือ “ธนาคารพาณิชย์” เพราะการเข้ามาของเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์กับพฤติกรรม

ผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปิดประตูให้คู่แข่งหน้าใหม่ ๆ เข้ามา ทำให้แบงก์ที่ได้ชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” ต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติธุรกิจ

รวมทั้งธุรกิจค้าปลีก ที่ต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันกับยักษ์อีคอมเมิร์ซและร้านค้าออนไลน์ จนเกิดปรากฏการณ์ร้านค้าปลีกในอเมริกาและยุโรปต้องปิดสาขาจำนวนมาก แม้ว่าจะยังไม่เกิดในไทย แต่ก็ไม่ใช่จะไม่เกิด หรือกระทั่งอุตสาหกรรมยานยนต์ และธุรกิจพลังงาน ที่กำลังเจอโจทย์ใหญ่จากการเกิดขึ้นของ “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” และ “เทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติ” ที่ทำให้ต้องเร่งสร้างเกมใหม่เพื่อเปลี่ยนอนาคต

Game Changer

หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ติดตามปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของโลกธุรกิจ พร้อมกับนำเสนอข้อมูลข่าวสาร บทวิเคราะห์ และส่งสัญญาณ “เตือนคุณล่วงหน้า ทุกคำ ทุกข่าว” มาอย่างต่อเนื่อง ในโอกาสก้าวขึ้นสู่ปีที่ 42 หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้จัดงานสัมมนาประจำปีในหัวข้อ “Game Changer…เกมใหม่ เปลี่ยนอนาคต” ในวันพุธที่ 23 พฤษภาคม 2561 ระหว่างเวลา 09.00-12.30 น. ณ ห้องนภาลัย บอลรูม โรงแรมดุสิตธานี

โดยมี “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี จะมาปาฐกถาพิเศษเรื่องทิศทาง และบทบาทใหม่ของประเทศไทยในโลกอนาคต และ “ดร.อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะมาบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Game Changer ประเทศไทย”

พร้อมกับ 3 ผู้บริหารแห่ง 3 วงการที่กำลังเผชิญหน้ากับกระแสดิสรัปชั่น ที่จะมาแชร์ประสบการณ์และแชร์วิชั่น “game changer” ของแต่ละอุตสาหกรรม ได้แก่ “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) “ชาญชัย ตระการอุดมสุข” ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ “ธนา เธียรอัจฉริยะ” รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส chief marketing officer ธนาคารไทยพาณิชย์

ปตท.อยู่ระหว่างทางแยก

“อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า “ธุรกิจพลังงานก็เปลี่ยนแปลงไม่แพ้ธุรกิจอื่น” โดยเฉพาะในยุคขาลงของพลังงาน (ฟอสซิล) จากนี้ ปตท.ก็ต้องออกไปหาช่องทางการลงทุนใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาแทนที่ของเก่า จากกระแสของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่กำลังมา เวลานี้ ปตท.ก็มองไปที่เทคโนโลยีแบตเตอรี่ รวมถึงการไปลงทุนทำโรงไฟฟ้า

“ตอนนี้ ปตท.อยู่ระหว่างทางแยก ซึ่งมีหลายทาง และยังไม่ได้เลือกว่าจะเดินทางไหน ซึ่ง ปตท.จะใช้วิธีการลงทุนแบบกระจาย ทั้งลงทุนไว้เพื่อพัฒนาต่อยอดและลงทุนไว้เพื่อตามความเคลื่อนไหว ปตท.มีบริษัทในเครือมากก็แบ่งงานกัน อย่างเรื่อง “แบตเตอรี่” ก็กำลังหาไอเดียใหม่ ๆ กับกลุ่มสตาร์ตอัพ เมื่อมีอะไรที่น่าสนใจก็จะเรียกทัพใหญ่เข้าไปลงทุน”

ประเด็นสำคัญคือเรื่อง “จังหวะเวลา” โดยเฉพาะการมาของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าก็ไม่มีใครบอกได้ชัดเจนว่าจะมาเมื่อไหร่ แต่ ปตท.ก็ต้องเตรียมพร้อมเพราะ “เร็วไปก็ไม่ดี-ช้าไปก็ไม่ดี”

เช่นหาก ปตท.เปลี่ยนปั๊มน้ำมันที่มีทั้งหมดในวันนี้ให้เป็นสถานีชาร์จไฟฟ้าก็คงเจ๊ง ดังนั้น “ไทมิ่ง” จึงเป็นเรื่องสำคัญ

และล่าสุด ปตท.ยังเปิดตัวว่า สนใจที่จะเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินของอีอีซี

“อรรถพล”แย้มว่าเรื่องนี้เป็นโปรเจ็กต์เพื่อชาติจริง ๆ เพราะส่วนใหญ่ที่เข้ามาจะเป็นนักลงทุนต่างชาติ หากนักลงทุนไทยที่มีศักยภาพก็ควรจะส่งเสริม และถือเป็นอีก game changer ของ ปตท. เพราะเป็นการไดเวอร์ซิฟายธุรกิจที่เปลี่ยนไปจากเดิม

เมื่อยักษ์ไอทีเข้ายึดโลกยานยนต์

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังเผชิญความท้าทายและเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน จากการเกิดขึ้นของ “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” และ “เทคโนโลยีไร้คนขับ” ที่มาพร้อมกับคู่แข่งหน้าใหม่ โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำที่โดดเข้ามาในอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงเทรนด์ของ “ไรด์แชริ่ง” ทั่วโลกที่ทำให้ความต้องการเป็นเจ้าของรถยนต์ลดลง เหล่านี้เป็นโจทย์ใหญ่ของบรรดาค่ายรถ

“ชาญชัย ตระการอุดมสุข” ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า รถยนต์พลังงานไฟฟ้าและเทคโนโลยีไร้คนขับคือ game changer ของอุตสาหกรรม แต่สิ่งสำคัญก็คือ “จังหวะเวลาและราคา” ที่เหมาะสม

“อนาคตอันใกล้ หัวใจของระบบขับเคลื่อนจะอยู่ที่ซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่น ต่อไปคงได้เห็นความร่วมมือของค่ายรถยนต์กับบริษัทเทคโนโลยีมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะได้เห็นผู้เล่นรายใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้นด้วย”

ขณะที่การทำธุรกิจในโลกปัจจุบันก็ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันกับพฤติกรรมผู้บริโภค “ชาญชัย” เล่าว่า ปีนี้มาสด้าจึงมุ่งเน้นการปรับระบบการบริหารจัดการต้นทุน เริ่มจากรื้อระบบหลังบ้าน โดยใช้แนวคิดแบบขายสินค้าออนไลน์แบบลาซาด้า คือทำให้มีสต๊อกน้อยที่สุด ปรับวิธีการผลิตให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นตามความต้องการลูกค้า ทั้งรุ่นและสี แค่คลิกสั่งซื้อโรงงานก็พร้อมผลิตและดีลิเวอรี่รถได้ภายใน 5 วัน ทั้งช่วยเพิ่มกระแสเงินสดและกำไรให้คู่ค้ามากขึ้นด้วย

สงครามแบงก์นับหนึ่งใหม่

สำหรับ “ธนา เธียรอัจฉริยะ” รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส chief marketing officer ธนาคารไทยพาณิชย์ พูดถึงกระบวนการคิดและการกลับหัวตีลังกาของธนาคารไทยพาณิชย์ในเกมการแข่งขันยุคดิจิทัลว่า มุมมองของผู้บริโภคต่อแบงก์ที่ผ่านมาคือ “งก ช้า ห่วย” นี่เป็นสิ่งที่แบงก์ต้องพยายามแก้ไข ดังนั้นเอสซีบีจึงเปิดเกมด้วยการยกเลิกค่าธรรมเนียมธุรกรรมบนมือถือ ทั้งโอนเงินข้ามธนาคาร ข้ามเขต จ่ายบิลเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็เป็นการย้ายให้ลูกค้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มโมบายแบงกิ้ง

ธนาระบุว่า เมื่อเทรนด์ดิจิทัลมา ทำให้ลูกค้าตัดสินใจย้ายธนาคารง่ายขึ้น ตอนนี้สงครามแบงก์นับหนึ่งใหม่ ไม่ได้แข่งที่จำนวนบัญชีเงินฝาก แต่ต้องนับทรานแซ็กชั่นบนโมบายแบงกิ้งว่าใครแอ็กทีฟมากกว่ากัน แพ้ชนะอยู่ตรงนี้ game changer อยู่ตรงนี้ ช้าก็จะแพ้ ถ้าเร็วก็มีโอกาส และจะลามเป็นลูกโซ่ไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ธนาสรุปว่า หัวใจหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ “เทคโนโลยี” แต่คือ “พฤติกรรม” ของลูกค้าที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ คือมีความอดทนต่ำอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถอดทนต่ออะไรทั้งสิ้น เรียกว่าเป็นยุค now ที่ทำให้เกิดการดิสรัปชั่นเพื่อให้ทันใจผู้บริโภค

และเตรียมพบกับตัวจริงเสียงจริงของทุกคนได้ที่งาน “Game Changer…เกมใหม่ เปลี่ยนอนาคต”