ระบบขับขี่อัตโนมัติ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย อมร พวงงาม

วันก่อน ค่ายเมอร์เซเดส-เบนซ์ ส่งข้อมูลเกี่ยวกับระบบขับขี่อัตโนมัติ

ดูน่าสนใจมาก

พอดิบพอดีกับบรรยากาศที่หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” กำลังจะจัดสัมมนาแห่งปี “Game Changer…เกมใหม่ เปลี่ยนอนาคต” ในวันพุธที่ 23 พ.ค.นี้ ที่ รร.ดุสิตธานี กรุงเทพฯ

ธุรกิจและเศรษฐกิจโลกยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลง และมีเหตุการณ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

อุตสาหกรรมหลายอย่างถูกท้าทายจากแนวรุกใหม่

และอีกหลายธุรกิจถูก disrupt จนแทบล้มหายตายจาก

ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเฉพาะเครื่องยนต์สันดาปภายใน

รถยนต์ไฟฟ้ากำลังจะเป็นคลื่นลูกใหม่ที่หลาย ๆ ค่ายกำลังจะหยิบมาใช้เป็นอาวุธ

ดังนั้นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ก่อนที่จะไปถึงรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัว

และก้าวล้ำนำหน้าไปถึงรถขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติ

ค่ายรถยนต์ทุกค่ายจำต้องทุ่มเทเวลาทั้งหมด

ค้นคว้า วิจัย กันอย่างหนัก เพื่อไปสู่เป้าหมายอย่างเต็มรูปแบบ

ล่าสุด เมอร์เซเดส-เบนซ์ ใช้กระบวนการเรียนรู้เชิงลึกบนท้องถนนจริงใน5 ทวีปทั่วโลก เพื่อยกระดับระบบการขับขี่อัตโนมัติ และให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด

โดยตระหนักถึงความแตกต่างด้านการสัญจรของแต่ละประเทศ โครงสร้างพื้นฐาน กฎจราจร และระเบียบปฏิบัติระหว่างผู้ขับขี่กับผู้ใช้ถนน  แล้วนำมาปรับตั้งเซ็นเซอร์หรืออัลกอริทึ่มของระบบการขับขี่อัตโนมัติ

สิ่งสำคัญที่สุดของระบบนี้คือ แผนที่แบบความละเอียดสูง

อย่าลืมว่าทั่วโลกต่างมีป้ายจราจรและเครื่องหมายจราจรบนพื้นถนนที่แตกต่างกัน

ในสหรัฐอเมริกา ป้ายจำกัดความเร็วจะมีรูปร่างต่างจากป้ายจำกัดความเร็วในจีน หรือในทวีปยุโรป

หรืออย่างประเทศจีน สัญลักษณ์ทางม้าลายจะมี 2 ความหมาย

ในเขตเมือง เส้นทางม้าลายจะหมายถึงจุดที่คนเดินเท้าสามารถข้ามถนนได้

แต่บนทางด่วน เส้นนี้จะเป็นเส้นกำกับระยะห่างระหว่างรถแต่ละคันเพื่อความปลอดภัย

การพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติยังต้องเก็บทุกรายละเอียด ตอนนี้ถนนในสหรัฐอเมริกาใช้ “botts’ dots” ซึ่งเป็นเซรามิกหล่อเป็นทรงกลม และฝังลงบนพื้นถนนเพื่อเป็นเส้นแบ่งช่องทางวิ่งแทนการตีเส้นบนพื้นถนน

ซึ่งระบบการขับขี่อัตโนมัติในปัจจุบันยังไม่สามารถตรวจจับช่องทางวิ่งแบบนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

อีกหนึ่งสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับระบบการขับขี่อัตโนมัติคือ ข้อเท็จจริงที่ว่าป้ายจราจรหรือเครื่องหมายจราจรบนพื้นถนนมักจะหายไป

ซึ่งแม้แต่ผู้ขับขี่ที่มีประสบการณ์ยังรู้สึกลำบากในการขับขี่

อีกหนึ่งความท้าทายคือ มีบางประเทศมีผู้สัญจรบนทางเท้าหลากหลายประเภทมาก

ดังนั้นระบบขับขี่อัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพจำต้องตรวจจับพฤติกรรมของคนเดินเท้าได้อย่างแม่นยำ

นอกเหนือจากคนและยานพาหนะแล้ว สัตว์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ให้ความสำคัญ

ในโครงการนี้ ยังต้องศึกษาพฤติกรรมการข้ามถนนของจิงโจ้ในประเทศออสเตรเลีย และตัวสปริงบอกซ์ในแอฟริกาใต้

สัตว์แต่ละตัวมีรูปร่างและท่าทางแตกต่างกัน ทำให้ระบบการขับขี่อัตโนมัติตรวจจับสัตว์เหล่านี้ได้ยาก

เบนซ์ยังใช้ “CASE” เพื่อวางรากฐานให้กับระบบการขับขี่แบบอัตโนมัติ

ประกอบไปด้วย การเชื่อมต่อผ่านเครือข่าย (connected)

การขับขี่โดยใช้ระบบอัตโนมัติ (autonomous)

ความยืดหยุ่นในการใช้งานยานพาหนะ (shared & services)


และการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าแทนเครื่องยนต์สันดาป (electric)