คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ ผู้เขียน : วุฒิณี ทับทอง
ท่ามกลางกระแสอันเชี่ยวกราก และการเติบโตที่เรียกว่า อยู่ในช่วงกำลังแตกหน่อ ต่อยอด เก็บกินผลได้ ของค่ายรถยนต์ EV
ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ชนิดที่ใครปรับตัวไม่ทัน ต้องตกขบวน
โดยเฉพาะเจ้าตลาดของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก อย่างรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น
ที่ต้องรับแรงสะเทือนมากกว่า
ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางการตลาดที่ท้าทายมากขึ้น ความเข้มข้นของการแข่งขันด้านราคา และเทคโนโลยี ที่รวดเร็ว และรุนแรง
หลาย ๆ ค่ายเริ่มมองหาทางรอด เพื่อพยายามหยัดยืน
การสู้กลับของรถยนต์สันดาปภายใน หรือรถน้ำมัน กับรถยนต์พลังงาน (ใหม่) ไฟฟ้า 100% หรือรถอีวี ยังคงเป็นสมรภูมิที่หลาย ๆ คนจับตา
ก่อนหน้านี้ เราได้เห็นความพยายามสู้ของค่ายญี่ปุ่น ที่ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ออกมารวมตัวกัน เพื่อ “หาทางรอด”
ด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร และโครงสร้างธุรกิจใหม่
ปีที่ผ่านมา ค่ายโตโยต้า มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก ออกมาประกาศทิศทางเทคโนโลยียานยนต์ในยุคถัดไป กับนโยบาย Multi Pathway ด้วยเเนวคิดการจัดการการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งจัดหาพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่ เพื่อตอบโจทย์การขับเคลื่อนที่ไม่ใช่ “การยึดติดกับเทคโนโลยีเพียงหนึ่งเดียว”
แนวคิดนี้ถือเป็น “ความหวัง” เพราะจะเป็นการใช้พลังงานขับเคลื่อนที่หลากหลาย ทั้งเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE), รถยนต์ไฟฟ้า 100% (BEV), รถยนต์ไฮบริด (HEV), รถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV), ฟิวเซลล์ (FCEV), รถยนต์ไฮโดรเจน (H2) หรือแม้แต่แก๊สธรรมชาติ (LPG)
เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายท้ายสุด คือ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutral)
โดยความร่วมมือครั้งนี้เป็นการจับมือของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น นำโดย โตโยต้า, อีซูซุ, ซูซูกิ และไดฮัทสุ เพื่อศึกษาพัฒนารถยนต์จากพลังงานที่หลากหลาย ให้เหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุด
นอกจากนี้ โตโยต้า ยังได้จับมือกับ ซูบารุ และมาสด้า มียอดขายรวมกว่า 16 ล้านคันทั่วโลก เพื่อพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายในเจนใหม่ ควบคู่ไปกับการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า
โดยตั้งความหวังว่าเครื่องยนต์สันดาปยุคใหม่ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ ฯลฯ และที่สำคัญ ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนด้วย
หรือล่าสุด มิตซูบิชิ ได้จับมือกับ ฮอนด้า และ นิสสัน ซึ่งทั้ง 3 ค่ายนี้ต่างมีรถยนต์ไฟฟ้าออกมาทำตลาด แต่อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จ
ความร่วมมือครั้งนี้พุ่งเป้าไปที่พัฒนามาตรฐานซอฟต์แวร์ที่ใช้ควบคุมรถ และแน่นอนการเพิ่มขีดความสามารถในการตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีการเเข่งขันค่อนข้างรุนแรง โดยทั้ง 3 ค่ายมียอดขายรวมกันราว ๆ 8.35 ล้านคัน
จะเห็นได้ว่า ความพยายามของค่ายรถยนต์เลือด “ซามูไร” ที่ยังไม่ลดละ และย่อท้อกับกระแสอันเชี่ยวกราก
ทัพรถจีนที่มาครบทุกกระบวนยุทธ์ ความรวดเร็ว เทคโนโลยี การผลิต การตัดสินใจ และสไตล์การค้าขายแบบกล้าได้กล้าเสีย
วันนี้ หากซามูไรยัง “เงื้อง่า แต่ไม่ลงดาบ” ด้วยความแม่น รวดเร็ว ฉับไว
ต่อให้รวมกันได้มั่นคงแค่ไหน
ผลิตผลที่ร่วมลงแขก ลงแรง และลงเงิน พรวนดิน รดน้ำ
ท้ายสุด หากกระเเสน้ำที่เชี่ยวกราก ก็จะอาจพรากดอก และ ผล ไป
จะทำให้เจ็บใจยิ่งกว่าเดิม