คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ
ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Committee) สมัยสามัญครั้งที่ 46 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ได้มีมติในวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ให้ขึ้นทะเบียน แหล่งภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี เป็นมรดกโลก ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ค.ศ. 1972 (1972 Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage) ของ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO
โดยแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติแห่งนี้ นับเป็น มรดกโลกของ UNESCO ลำดับที่ 8 ของประเทศไทย จากที่ก่อนหน้านี้ ประเทศไทย มีมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไปแล้ว 7 แหล่ง ได้แก่ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร, นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง, แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง, ผืนป่าพญาเย็น-เขาใหญ่, กลุ่มป่าแก่งกระจาน และเมืองโบราณศรีเทพ
ทั้งนี้ แหล่งภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี ตั้งอยู่ที่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ครอบคลุมพื้นที่ 3,662 ไร่ ประกอบไปด้วย อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีเนื้อที่ประมาณ 3,599 ไร่ และแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน เนื้อที่ประมาณ 62 ไร่
โดย UNESCO ได้พิจารณาหลักเกณฑ์ที่จะเข้าข่ายการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก 2 ข้อด้วยกัน คือ เกณฑ์ข้อที่ 3 ความเป็นเอกลักษณ์ หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม ที่ปรากฏอยู่ในภาพเขียนสีในตัวแหล่งและเสมาหิน กับเกณฑ์ข้อที่ 5 เป็นตัวอย่างลักษณะอันเด่นชัดของขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม วิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ที่มุ่งเชื่อมโยงกับขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งแหล่งนี้มีหลักฐานการตัดแต่งหินเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอย่างชัดเจน
ปรากฏ แหล่งมรดกโลกภูพระบาท-วัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี มีความโดดเด่นอยู่ที่เป็นพื้นที่ที่พบหลักฐานการเข้ามาใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่องมากกว่า 3,000 ปี หรือตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จากหลักฐาน ภาพเขียนสีตามเพิงหิน-เสาหิน ต่อเนื่องมาจนถึง สมัยประวัติศาสตร์ ที่พบ “เสมา” ดัดแปลงทั้งที่เป็นเสมาธรรมชาติและเสมาหินสลักเป็นจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณ เพื่อล้อมศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ของผู้คนในวัฒนธรรมทวารวดี ที่มีอายุราวคริสต์ศตวรรษที่ 8 ต่อเนื่องมายัง วัฒนธรรมเขมร ล้านช้าง และรัตนโกสินทร์ ที่ยังคงสภาพความเป็นแหล่งใบเสมาหินที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
นอกเหนือจากการวิจัยทางวิชาการที่จะต้องดำเนินการต่อไป การเป็นมรดกโลกจะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยวที่จะตามมา ทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ส่งผลให้ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของการเยือนชมมรดกโลก เฉกเช่นเดียวกับ อ.บ้านเชียง ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว
จึงควรที่หน่วยงานราชการและชุมชนในพื้นที่จักต้องอนุรักษ์ จัดแสดง ฟื้นฟู ให้ความรู้ และปกป้องแหล่งมรดกโลก ให้มีชีวิต มีพลัง มีความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมต่อเนื่อง ไม่ใช่การหยุดนิ่งอยู่กับที่จนกลายเป็นเศษซากหินปูนเหมือนที่ปรากฏอยู่หลาย ๆ แหล่งในประเทศ