
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ ผู้เขียน : วุฒิณี ทับทอง
แม้จะยังไม่มีการออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ว่าท้ายที่สุดค่ายรถยนต์สัญชาติเวียดนามอย่างวินฟาสต์ (Vinfast) ตัดสินใจอย่างไรกับแผนธุรกิจในประเทศไทย จากก่อนหน้านี้ได้เปิดตัวแบรนด์ในงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2024 และพาสื่อมวลชนไทยคณะใหญ่เยี่ยมชมอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ โรงงานผลิตรถยนต์ที่เมืองไฮฟง เมืองฮานอย เวียดนาม
สถานการณ์ของวินฟาสต์ จากวันนั้นจวบจนวันนี้ ทุกอย่างกลับเหมือนอยู่ใน “ม่านหมอก”
เหมือนจะมองภาพได้ชัดเจน แต่ไม่ชัดเจน คล้ายกับวินฟาสต์มาบนความมั่นใจ แต่กลับไม่มั่นใจซะแล้ว
ก่อนหน้านี้ วินฟาสต์ประกาศชัดเจน ว่าใช้ระยะเวลาศึกษาตลาด พฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยมาอย่างดี จนมั่นใจ จนกลายเป็นรูปธรรม ด้วยการขนเอารถ Vinfast หลากโมเดลมาเรียงรายจอดโชว์ในงานมอเตอร์โชว์ 2024
ตอกย้ำความมุ่งมั่นด้วยการเปิดหน้าพันธมิตรทางธุรกิจ ว่าเตรียมจ่อปากกาเซ็น MOU ร่วมกันถึง 15 ราย ภายใต้เป้าหมายเปิดโชว์รูม 30 แห่งในปีนี้ ตามด้วยแนวคิด ขายแต่รถ แล้วแยกแบตเตอรี่ให้เช่าใช้ ท่ามกลางเสียงทัดทานของพันธมิตรทางธุรกิจ เพราะไม่มีใครทำ ไม่น่าจะเหมาะกับพฤติกรรมการใช้รถของผู้บริโภคชาวไทย
บนความละล้าละลัง อีกทั้งแผนงานด้านโปรดักต์ที่มีการปรับเปลี่ยน สับไปสับมา นัยว่ายังหาสินค้าที่จะเหมาะสมกับบ้านเราได้อย่างลงตัว จากรถยนต์ไฟฟ้า Vinfast e34 ที่พอจะซัดกับคู่แข่งในกลุ่มซิตี้ อีวี อย่าง NETA V และ WULING ได้ แต่กลับมาเป็น Vinfast VF5 ต้องบอกว่าเหนื่อย หากทำราคาไม่ได้ โอกาสเกิดมาแล้วตายเลยมีสูง…
ประเด็นนี้ ทีมงานวินฟาสต์รับรู้ แต่ยังแกะเงื่อนตรงนี้ไม่ออก หลังฟังฟีดแบ็กจากสื่อมวลชนคณะใหญ่ที่ร่วมสัมผัสทดสอบรถ Vinfast VF5 ยิ่งทำให้คิดหนัก การจะกดราคา Vinfast VF5 ให้ต่ำกว่า 5 แสนบาทนั้น คือยอมหั่นเนื้อเพื่อขาดทุนก่อน กลายเป็นเกมที่ยิ่งสู้ยิ่งเหนื่อย เพราะค่ายรถยนต์จีนกระหน่ำสงครามราคาแบบไม่มียั้ง ผนวกกับถึงวันนี้การจรดปากกา MOU กับพันธมิตรชาวไทย เพื่อหาดีลเลอร์ยังไม่เข้าเป้า ยิ่งทำให้ต้องหยุดคิด ทบทวนแผนธุรกิจให้เยอะขึ้น
มองภาพให้ชัดเจน วินฟาสต์จะถอยเพื่อตั้งหลัก หรือปรับกลยุทธ์ใหม่ ใช้จุดแข็งนำรถจักรยานยนต์อีวีที่ตัวเอง มีจุดแข็งเข้ามาทำตลาดไปก่อนไม่เสียหาย
วันนี้แม้จะยังไม่มีความชัดเจนจาก วินกรุ๊ป และวินฟาสต์ ไทยแลนด์ อย่างเป็นรูปธรรม
แต่เป็นสัญญาณดีอย่างหนึ่ง คือการที่ “วินฟาสต์เลือก ไม่ฝืน…”
เช่นเดียวกัน ค่ายรถยนต์จีน GWM ที่จนแล้วจนเล่ายังเลื่อนแผนเปิดตัวรถปิกอัพแบรนด์ POER ออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทั้งนี้ ที่เหลือแค่เปิดตัวและเปิดราคาอย่างเป็นทางการ จนถึงวันนี้ทุกอย่างยังเงียบฉี่
รถถูกดึงกลับไปเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโปรดักต์ใหม่เหมาะสมที่สุด แล้วค่อยเปิดตัวใหม่ หรือจะปล่อยให้กาลเวลาดูดกลืนไป หลายคนเอาใจช่วยว่า GWM จะไปต่อหรือพอแค่นี้
มาถึงตรงนี้ต้องบอกว่า การเลื่อนหายของรถยนต์แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง จะมีให้เห็นเป็นเรื่องปกติ เพราะหากเรา มานั่งนับนิ้ว ยังมีแบรนด์จีนเตรียมเข้ามาในบ้านเราอีกไม่น้อย ทั้งแบรนด์ AVATRA ของกลุ่มฉางอาน, แบรนด์ DENZA ของกลุ่ม BYD, แบรนด์ RIDDARA กระบะ EV จากกลุ่ม GEELY, แบรนด์ LEAP ของกลุ่ม สเตลแลนติส, แบรนด์ JUNEYAO ของกลุ่ม JUNEYAO และ ฯลฯ
ทุกค่ายกำลังฟอร์มทีม หมายมั่นปั้นมือเข้ามาตีตลาดกวดยอดขายในประเทศไทย จากเดิมมีค่ายรถทำตลาดในบ้านเรา 30 กว่าแบรนด์ แต่ยอดพุ่งเกือบ 50 แบรนด์ และยังมีแนวโน้มจะมีเพิ่มขึ้น
แน่นอนว่า เมื่อค่ายรถเกิดใหม่ ก็ย่อมมีค่ายรถยนต์ที่ตายไป
ค่ายรถที่แข็งแรงจึงจะอยู่รอดเป็น “วัฏจักรที่ธรรมดา”