สงครามการเมือง

สงครามการเมือง
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ปัญหาเศรษฐกิจกับการเมือง แยกกันไม่ออก โลกปัจจุบันยังเผชิญปัญหาจากภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งระดับนานาชาติ ส่งผลกระทบต่อนานาประเทศ และประเทศไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องถอดบทเรียนรับมือเศรษฐกิจยุคสงคราม เนื่องจากมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่สงครามในยุโรปและตะวันออกกลางจะขยายวง

รวมทั้งสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา การทุ่มตลาดของจีนอาจเข้มข้นระหว่างและหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ดร.อนุสรณ์เตือนว่า สังคมไทยและรัฐบาลควรเตรียมการเรื่องความมั่นคงทางอาหารและพลังงานไว้โดยไม่ประมาท การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต้องเน้นไปที่การรักษาเสถียรภาพและการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและรายได้ให้เป็นธรรม

คณบดีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้า ยังกล่าวด้วยว่า สถานการณ์ในประเทศ เราอาจเผชิญกับ “สงครามการเมือง” ที่รุนแรงขึ้น ทางออกก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทบทวนบทบาทขององค์กรอิสระเพื่อให้เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการเพื่อให้การเมืองมีเสถียรภาพ และเตือนอีกว่านิติสงครามจะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและภาคการลงทุนของไทย

รวมทั้งสร้างความไม่แน่นอนทางด้านนโยบาย ทำให้เกิดการชะลอตัวของการลงทุนโดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐและเอกชน จะเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนดังกล่าว นิติสงครามจะทำให้ระบบสถาบันยุติธรรมไทยอ่อนแอลงอีก และอาจสร้างความสั่นคลอนต่อเสถียรภาพของรัฐบาลได้ ระบบนิติรัฐนิติธรรมอันอ่อนแอ ความไม่ชัดเจนของระบอบการปกครองโดยกฎหมายและไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทำให้โอกาสที่จะเกิดความรุ่งเรืองรอบใหม่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เห็นได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิต ขณะนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ ไตรมาสสองอยู่ที่ 57.7% เท่านั้น ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

จากทรรศนะของนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ดังกล่าว ทำให้เห็นว่าการเมืองไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาภายในของประเทศที่จะปิดประตูดำเนินการโดยไม่เกี่ยวกับโลกภายนอกได้อีก นับวันการเมืองในประเทศยิ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ละชาติที่จะอยู่ร่วมในชุมชนโลก ต้องมีการเมืองที่สังคมโลกยอมรับคือการเมืองประชาธิปไตย ปฏิเสธอำนาจเผด็จการ ที่ผ่านมา ประเทศไทยใช้รัฐประหารเพื่อแก้ปัญหาการเมืองถึง 2 ครั้ง ในเวลาไม่ถึง 10 ปี คือปี 2549 และ 2557 ผลคือล้มเหลวจนต้องกลับคืนสู่ระบบปกติ

แต่กฎกติกาหลัก ๆ ที่ใช้ยังไม่ปกติ ยังเป็นกติกาที่รองรับการแก้ปัญหาด้วยอำนาจที่ล้นเกินจากแนวทางทั่วไป ดังนั้น ในระยะหนึ่ง ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีคนเดียวอยู่ในอำนาจยาวนาน จาก 2557-2566 แต่เมื่อมีนายกฯจากพรรคการเมือง ยังไม่ถึง 1 ปี มีการเปลี่ยนตัวนายกฯไปแล้ว 1 คน เป็นผลจากสิ่งที่เรียกว่า นิติสงคราม ทางออกต้องเร่งสร้างสมดุล ลดความล้นเกิน ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้การเมืองและเศรษฐกิจ มีมาตรฐาน และช่วยฟื้นฟูขับเคลื่อนประเทศกลับสู่ความเป็นปกติ

Advertisment