Ease of Doing แอชตัน อโศกโมเดล

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย เมตตา ทับทิม

4 ปีรัฐบาล คสช. (22 พฤษภาคม 2561) ตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มอยู่ในเส้นกราฟขาขึ้น รัฐบาลทั่นบอกมาอย่างนั้น

ชุดข้อมูลของ “อ.อนุสรณ์ ธรรมใจ” คณบดีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินผลงาน 4 ปี คสช. และอนาคตประเทศไทย จีดีพี ณ ปี 2557 อยู่ที่ 1% ข้ามมาปี 2560 ขยับเป็น 3.9% เป้าหมายปีนี้คาดการณ์ไว้ 4.1%

ฐานะการคลังปี 2558-2561 รัฐบาลใช้นโยบายขาดดุลงบประมาณกระทั่งมียอดสะสม 16.4 ล้านล้านบาท

และข่าวใหญ่มีมติคณะรัฐมนตรีคลอดกฎหมายใหม่ “ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” ถนนทุกสายดูเหมือนมุ่งสู่ 3 จังหวัด มีชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา

คณะโรดโชว์ของตัวแทนรัฐและเอกชนจากทุนต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาเช็กแฮนด์กับ “อ.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ

ยังจำได้เมื่อ 3-4 ปีก่อน ได้มีโอกาสสัมภาษณ์มือกฎหมายบรมครู “อ.มีชัย ฤชุพันธุ์” ตอนนั้นอาจารย์บอกว่าเมืองไทยกำลังจะดีขึ้นเพราะกำลังจะมี “กฎหมายปราบคอร์รัปชั่น”

ต่อมากฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ขึ้นมาจริง ๆ ชื่อเต็มคือ “พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558” หลักการใหญ่มีขึ้นเพื่อขจัดปัญหาการติดต่อส่วนราชการแล้วโยกโย้จนทำให้ประชาชนผู้มาติดต่อสูญเสียเวลาโดยไม่จำเป็น ปิดช่องการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาอนุญาตทางราชการ

ตัดฉากกลับเข้ามายุคปีที่ 4 รัฐบาล คสช. อ้าแขนต้อนรับทุนต่างประเทศ ยอมให้ซื้อคอนโดมิเนียมได้ 100% ยอมให้มีกรรมสิทธิ์ที่ดิน และยอมให้สิทธิการเช่ายาว 50+49 ปี

เหมือนเป็นยาวิเศษปลุกกำลังใจนักลงทุนต่างประเทศ

แต่รู้หรือไม่ว่า ในเวลาเดียวกันมีกลุ่มทุนอสังหาฯ ยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นชื่อ “มิตซุย ฟุโดซัง” เขาเพิ่งรายงานธุรกิจกลับไปยังบริษัทแม่ ขอตั้งสำรองหนี้ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการไม่สามารถโอนห้องชุดในโครงการแอชตัน อโศก

พลิกแผนรายรับเป็นแผนรายจ่ายสำรองหนี้ เพราะคอนโดฯ สร้างเสร็จตั้งแต่ปลายปี 2560 แต่จนกระทั่งบัดนี้ย่างเข้า 5 เดือนเศษยังโอนให้ผู้ซื้อไม่ได้ ซามูไรเลยไปต่อไม่เป็น ทุกอย่างขออนุญาตถูกต้องเป๊ะ มาตายน้ำตื้นตอนจะโอน

มิตซุย ฟุโดซัง คือพันธมิตร บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ เข้ามาลงทุนตั้งแต่ปี 2556 มูลค่าร่วมทุน 9 หมื่นล้าน ถ้ารวมโครงการใหม่ปีนี้มูลค่าเกิน 1.14 แสนล้านบาท

เข้าใจว่า 4-5 ปีที่แล้ว มิตซุย ฟุโดซังได้ไปเห็นรายงานความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือ Ease of Doing Business โดยธนาคารโลก

ณ 31 ตุลาคม 2560 ธนาคารโลกเผยแพร่รายงาน “Doing Business 2018 : Reforming to Create Jobs” ไทยมีอันดับ 26 จาก 190 ประเทศ มีตัวชี้วัดอันดับสูงสุดคือการขอใช้ไฟฟ้า ได้อันดับ 13 ของโลก รองลงมาคือการคุ้มครองผู้ลงทุน ได้อันดับ 16

เกิดอะไรขึ้นกับ Ease of Doing Business โครงการร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่น สร้างคอนโดฯ เสร็จและยื่นขอเอกสาร อ.6 (ตรวจสอบอาคาร) เพื่อเปิดใช้อาคาร ทางหน่วยงานปกครองท้องถิ่นประวิงเวลาไม่เซ็นอนุญาต ให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีคดีฟ้องร้องอยู่ในศาลปกครอง

ล่าสุดคณะกรรมการอุทธรณ์มีมติให้เซ็น อ.6 โดยให้แยกคดีศาลปกครองออกมา เนื่องจากเป็นการใช้ดุลพินิจคนละเรื่องกัน ตามกฎหมายให้ออกใบอนุญาตภายใน 30 วัน นับจากได้รับหนังสือมติกรรมการอุทธรณ์

บทเรียนการขออนุญาตเอกสาร อ.6 จะสอยอันดับการคุ้มครองผู้ลงทุนใน Ease of Doing ให้ลดต่ำเตี้ยลงหรือเปล่า อันนี้ไม่ทราบจริง ๆ

แต่ถ้าให้เดา เรื่องนี้อาจพัฒนากลายเป็นยาขมบนนโยบายกระตุ้นการลงทุน EEC เพราะทุกการก่อสร้างอาคารมีขั้นตอนสุดท้ายอยู่ที่การเซ็นเอกสาร อ.6 นี่เอง

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายขอให้ลูกช้างเดาผิดด้วยเถิด สงสารประเทศไทย