การเมืองเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ

spa
บทบรรณาธิการ

เกิดความกังวลว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นมาตรฐานและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกำหนดเป็นนโยบาย อาจไม่ประสบความสำเร็จ หรือเสร็จไม่ทันภายในสมัยประชุม หลังจากเกิดเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ รวมถึงกรณีที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 30 ก.ย. ลงมติให้ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ กลับไปใช้วิธีการเสียงข้างมาก 2 ระดับ หรือ Double Majority แทนที่จะเป็นเสียงข้างมากระดับเดียว หรือ Simple Majority ที่สภาผู้แทนฯให้ความเห็นชอบ กลายเป็นพาดหัวข่าวในสื่อต่าง ๆ ว่า “สว.หักมติสภาผู้แทนฯ” ซึ่งจะทำให้เกิดขั้นตอนที่ใช้เวลามากขึ้น ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และอาจมีผลทำให้เหลือเวลาไม่เพียงพอสำหรับกระบวนการแก้ไข ที่มีทั้งการทำประชามติอย่างน้อย 2 ครั้ง การเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อมาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ

ในเรื่องเดียวกันนี้ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จะจัดตั้งคณะทำงาน 1 ชุด มาจากตัวแทนพรรคการเมืองทุกพรรค ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เพื่อมาพูดคุยกันว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จะเดินต่ออย่างไร เมื่อได้ข้อยุติแล้วจะแจ้งต่อหัวหน้าพรรค แล้วเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคมาพูดคุยกัน ส่วนนายกรัฐมนตรีจะต้องเข้าร่วมการประชุมด้วยหรือไม่นั้น ส่วนตัวคิดว่าอาจมอบหมายให้มีตัวแทนเข้าร่วมก็ได้ เจ้าภาพอาจเป็นประธานวิป เพราะส่วนตัวเข้าใจว่าทุกพรรคก็มีเจตนาอยากจะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงต้องมาดูกันว่าท้ายที่สุดจะเดินหรือดำเนินการอย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้อาจไม่เป็นทางการก็ได้ แต่ให้มานั่งพูดคุยและเสนอความเห็นกัน

ส่วนปัญหาว่า ในเวลาที่เหลือ 3 ปี ของรัฐบาลนี้จะดำเนินการสำเร็จหรือไม่ ปัญหาใหญ่อยู่ในเรื่องการทำประชามติ ความยากอยู่ที่ว่าต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ถ้าใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ทั้ง 3 ครั้ง จะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องมาช่วยกันคิดและแก้ปัญหาตรงนี้ว่าจะทำอย่างไร ซึ่งในท้ายที่สุด สภาผู้แทนราษฎรอาจจะต้องมีความจำเป็นต้องยืนยันร่าง พ.ร.บ.ที่ให้ใช้ Simple Majority แต่การยืนยันหลักการเดิมต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้นดีที่สุด คือการมาคุยกันให้สะเด็ดน้ำ โดยไม่มีการจำกัดว่าเป็นฝ่ายไหน

แนวคิดของนายชูศักดิ์ ศิรินิล น่าจะทำให้การผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทางพรรคการเมืองต่าง ๆ อาจจะต้องหาทางดึงเอาวุฒิสภามาร่วมหารือด้วย เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้การลงมติในประเด็นสำคัญ ต้องมี สว.เห็นด้วย 1 ใน 3 หรือ 67 คน จาก 200 คน และ สว.เริ่มมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้การเมืองเป็นไปในแนวทางเดียวกับนานาประเทศ ทำให้รัฐบาลที่มาตามระบบเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วย รัฐบาลจะมีนโยบายที่สังคมรับรู้จากการหาเสียง เมื่อชนะเลือกตั้งก็ผลักดันให้เกิดการปฏิบัติเพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง และสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้