
คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยคิด ผู้เขียน : ดร.นครินทร์ อมเรศ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์
การวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นสูตรสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับโลก ประเทศ สาขาเศรษฐกิจ พื้นที่ องค์กร และบุคคล จึงถูกใช้วัดความก้าวหน้าในการยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจ ผ่านเครื่องชี้ อาทิ ค่าใช้จ่ายด้าน R&D ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และจำนวนบุคลากร R&D ต่อประชากร
สำหรับไทยแล้ว ตัวเลขเหล่านี้น้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นในภูมิภาค บทความนี้ขอเปลี่ยนมุมมองในอีกมิติหนึ่ง คือ การกำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริม R&D ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ แทนที่การหยิบยกเครื่องชี้ R&D มาเป็นเป้าหมายเป็นหลัก
งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการการศึกษาความต้องการบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มภารกิจนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยมุ่งประเมินผลกระทบเชิงประจักษ์จาก R&D ที่มีต่อมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศในสาขาการผลิต และสาขาการบริการ (ไม่รวมบางสาขา เช่น การเงิน โทรคมนาคม บริหารราชการ การศึกษา สาธารณสุข เป็นต้น)
โดยใช้ข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรม ปี 2555, 2560 และ 2565 รวม 255,261 ตัวอย่าง ครอบคลุมสถานประกอบการ 1.3 ล้านแห่ง และสำมะโนธุรกิจ การค้าและการบริการ ปี 2555 และ 2565 รวม 225,518 ตัวอย่าง ครอบคลุมสถานประกอบการ 3.8 ล้านแห่ง
การศึกษาพบว่า หากควบคุมตัวแปรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว สถานประกอบการที่ลงทุนด้าน R&D อาจไม่ได้มีความได้เปรียบในการสร้างมูลค่าเพิ่มได้เหนือกว่าคู่แข่งที่ไม่ได้ลงทุน R&D เสมอไป จึงขอจำแนกยุทธศาสตร์ของข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริม R&D ออกเป็นสามกลุ่มตามประเภทของผลกระทบดังนี้
1.กลุ่มสีเขียว : อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งพบว่าการลงทุน R&D ส่งผลบวกในการสร้างมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐกิจรวมโดยเฉลี่ย ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยกิจกรรมในอุตสาหกรรม S-Curve ของประเทศ อาทิ การผลิตอาหาร, เคมีภัณฑ์, ยานยนต์, เครื่องจักรและเครื่องมือ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้มีสัดส่วนบุคลากรทางการวิจัยประมาณร้อยละ 17 ของบุคลากรทั้งประเทศเกือบ 2 แสนคน
รวมถึง บริการบางประเภทที่มีส่วนรองรับการใช้ R&D ในการพัฒนาประเทศ อาทิ บริการให้เช่าทั้ง Hardware และ Software, โฆษณาและวิจัยการตลาด, บริการอาคารและโครงสร้างพื้นฐาน, บริการการบริหารและสนับสนุนสำนักงาน และการซ่อมและติดตั้งเครื่องจักร
ยุทธศาสตร์ในกลุ่มนี้ควรมุ่งสนับสนุนให้เกิดการลงทุน R&D ต่อยอดในส่วนของห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องทั้งกิจกรรมต้นน้ำและปลายน้ำ โดยพึงระลึกว่า ผลลัพธ์เชิงบวกของ R&D นี้อยู่บนฐานข้อมูลในอดีต ซึ่งสาขาเหล่านี้กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและความต้องการของลูกค้าอย่างก้าวกระโดด เช่น ความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี)
ซึ่งต้องอาศัยรูปแบบการลงทุน R&D แตกต่างจากการผลิตรถยนต์สันดาปมาก เป็นต้น นโยบายของประเทศจึงต้องต่อยอดการลงทุน R&D ในกิจกรรมแห่งอนาคตที่ยังอาจจะไม่คุ้มทุนในปัจจุบัน
2.กลุ่มสีฟ้า : การบริการล้ำยุค ที่พบว่าหลากสาขามีการลงทุนเม็ดเงินใน R&D แต่ในทางเศรษฐมิติแล้ว ยังไม่พบผลบวกต่อมูลค่าเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อาทิ ขายส่ง ขายปลีก อสังหาริมทรัพย์ กิจกรรมสำนักงานใหญ่และที่ปรึกษาทางธุรกิจ วิศวกรรมและสถาปัตยกรรม โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และแพร่ภาพกระจายเสียง โดยมีจำนวนนักวิจัยประมาณร้อยละ 9 ของบุคลากรด้านวิจัยของประเทศ ซึ่งคาดว่าสาเหตุหนึ่งที่การลงทุน R&D ไม่แสดงผลบวกในรูปของมูลค่าเพิ่ม
เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวมักอยู่ในรูปแบบของการสนับสนุน โดยไม่ได้เป็นธุรกิจหลัก ทำให้แม้จะมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ อาทิ การทำความเข้าใจต่อพฤติกรรมของลูกค้าและการนำนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ แต่ก็ไม่สามารถวัดผลบวกทางตรงได้อย่างชัดเจน
ยุทธศาสตร์ในกลุ่มนี้ควรมุ่งถึงการขยายขอบเขตของการให้บริการให้มีความทั่วถึงครอบคลุมถึงผู้ใช้บริการในกลุ่มเปราะบาง ซึ่งแม้จะมีความต้องการแต่ก็อาจจะไม่มีกำลังซื้อมากพอที่ภาคธุรกิจจะสร้างความคุ้มค่าจากการลงทุน R&D เพื่อให้บริการรองรับ โดยเฉพาะในกลุ่มที่กำลังเผชิญกับการปรับตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคม อาทิ กลุ่มผู้สูงวัย หรือกลุ่มที่ขาดทักษะความรู้ความเข้าใจในการใช้บริการดิจิทัล
3.กลุ่มสีแดง : ที่การลงทุนในด้าน R&D และการพัฒนาบุคลากรเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจตามปกติ จึงอาจเกิด Spill-over ผ่านการเคลื่อนย้ายบุคลากร หรือการปรับตัวเชิงกลยุทธ์ของคู่แข่ง ทำให้ธุรกิจที่เป็นฝ่ายลงทุน R&D แบกรับต้นทุนที่สูงกว่า จนเสมือนว่า R&D ส่งผลลบต่อมูลค่าเพิ่ม ธุรกิจในกลุ่มนี้ ได้แก่ การผลิตเภสัชภัณฑ์ การวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ กฎหมายและบัญชี กีฬาและนันทนาการ โรงแรมและภัตตาคาร เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ในกลุ่มนี้ควรมุ่งรักษาการลงทุน R&D และการพัฒนาบุคลากรให้มีความต่อเนื่อง ผ่านการออกแบบการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการที่ลงทุนได้รับแต้มต่อและผลตอบแทนให้เกิดความคุ้มค่าทางธุรกิจด้วย
โดยสรุปแล้ว หากเอาตัวเลขภาพรวมการลงทุน R&D เป็นที่ตั้ง การเพิ่มปริมาณเม็ดเงินลงทุน R&D ที่ดูเหมือนจะยิ่งมากก็ยิ่งดี จะเป็นไปได้ยากภายใต้ข้อจำกัดจากการบริหารจัดการงบประมาณของประเทศ ดังนั้น การกำหนดยุทธศาสตร์ให้เหมาะสมกับการลงทุน R&D ในแต่ละสาขากิจกรรม บนพื้นฐานของหลักฐานเชิงประจักษ์ จะเอื้อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน R&D และจัดเตรียมบุคลากรรองรับการยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสมกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด