คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ ผู้เขียน : รุ่งนภา พิมมะศรี
ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ ประเทศลาว ระหว่างวันที่ 9-12 ตุลาคม 2024 นอกจากผู้นำอาเซียนประชุมกันเอง ก็มีผู้นำและตัวแทนจากหลายประเทศมาเข้าร่วมประชุมทวิภาคีระหว่างอาเซียนกับประเทศนั้น ๆ ทั้ง จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป (อียู) อินเดีย ฯลฯ และการประชุมพหุภาคี “สุดยอดอาเซียน +3” (ASEAN Plus Three Summit) กับการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit)
สามารถพูดได้ว่าอาเซียนมีบทบาทเป็น “ศูนย์กลางความร่วมมือระดับนานาชาติ” ขนาดย่อม ๆ หรือเป็น “เวทีกลาง” ที่หลายประเทศซึ่งไม่ได้รักใคร่กันดีนัก ได้มาเปิดอกเปิดใจคุยกันและมีดีลทางบวกเล็ก ๆ น้อย ๆ เกิดขึ้น
ในอีกทางหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า หลายประเทศกำลังแข่งกันเข้ามามีบทบาทในอาเซียน ภูมิภาคที่กำลังเติบโต และมีความเป็นกลาง เหมือนน้องเล็กผู้อ่อนน้อมถ่อมตนและสามารถคุยได้กับทุกฝ่าย
งานนี้ จีนส่ง นายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง (Li Qiang) ซึ่งเป็นผู้นำเบอร์ 2 เข้าร่วมประชุม ขณะที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ผู้นำหมายเลข 1 มาเอง ซึ่งผู้นำทั้งสามประเทศต่างก็หยอดคำหวาน ประกาศการสนับสนุนน้องเล็กคนนี้
นายกฯหลี่ เฉียง ของจีน กล่าวว่า จีนสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียนอย่างแข็งขัน รวมถึงสนับสนุนสถานะ “ศูนย์กลางความร่วมมือระดับภูมิภาค” ของอาเซียน และสนับสนุนอาเซียนในการมีบทบาทในกิจการระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น
“จีนพร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองเชิงลึกกับทุกฝ่ายเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือระดับภูมิภาคที่สำคัญ และส่งเสริมความพยายามร่วมกันในการทำให้ภูมิภาคแห่งนี้ [อาเซียน] เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการพัฒนาระดับโลก” นายกฯหลี่ของจีนกล่าว
ด้าน ชิเกรุ อิชิบะ (Shigeru Ishiba) นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น ออกงานนอกประเทศครั้งแรกในงานนี้และได้กล่าวว่า ญี่ปุ่นจะส่งเสริมร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาใหม่ ๆ เช่น การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล “เพื่อร่วมสร้างอนาคตให้กับภูมิภาคที่มีชีวิตชีวาแห่งนี้”
นอกจากนั้น นายกฯญี่ปุ่นได้กล่าวแสดงความเห็นใจต่อผู้ได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นยางิที่ถล่มเวียดนามและหลายประเทศลุ่มแม่น้ำโขงเมื่อเร็ว ๆ นี้ พร้อมบอกว่า ญี่ปุ่นจะให้ความช่วยเหลือด้วย แต่ประเด็นสำคัญที่สุดของนายกฯญี่ปุ่นคือ การผลักดันพันธมิตรทางทหารในเอเชีย หรือ นาโต้แห่งเอเชีย
ส่วน ประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล (Yoon Suk-Yeol) ของเกาหลีใต้ ประกาศในการเยือนสิงคโปร์ ก่อนเดินทางเข้าลาวว่า เกาหลีใต้จะจัดสรรเงินทุน 100 ล้านดอลลาร์ ให้แก่โครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่ “ส่งเสริมประชาธิปไตย” ในอินโด-แปซิฟิก ในกรอบเวลา 3 ปีข้างหน้า และกล่าวว่า เกาหลีใต้จะขยายความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาดิจิทัล การศึกษา การตอบสนองต่อสภาพอากาศ เมืองอัจฉริยะ และโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง แก่ประเทศในอาเซีย
ไม่ว่าประเทศผู้พี่ที่มีอิทธิพลมากมายเหล่านี้จะหวังผลอะไรก็ตาม แต่ภาพที่เกิดขึ้นก็น่าพอใจสำหรับอาเซียน ซึ่งต้องการวางสถานะตัวเองเป็นผู้แก้ไขความแตกแยกและประสานความร่วมมือทั้งในอาเซียนและในระดับกว้างออกไป