ปฏิรูประบบราชการ 4.0

คอลัมน์ ระดมสมอง โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

 

เทคโนโลยีดิจิทัลที่กำลังเปลี่ยนโลกในเวลานี้ ทำให้หน่วยงาน องค์กรทั้งภาคเอกชน ภาคราชการต้องเร่งปรับตัวรองรับ ประกอบกับนโยบายและวิสัยทัศน์ของรัฐบาลชุดปัจจุบันต้องการพลิกโฉมประเทศภายใต้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ “ไทยแลนด์ 4.0” ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง สู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ระบบราชการไทยจึงจำเป็นต้องพัฒนาเพื่อยกระดับวิธีคิด การทำงานเพื่อก้าวสู่

การเป็นระบบราชการ 4.0 ด้วยการจัดระบบระเบียบการให้บริการประชาชนให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยปรับเปลี่ยนและปฏิรูปการทำงานให้สอดรับกับนโยบาย และวิสัยทัศน์ดังกล่าว

แนวทางหนึ่งคือการจัดฝึกอบรมติวเข้มบุคลากรภาครัฐ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ในการให้บริการ ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) อยู่ระหว่างจัดโครงการศึกษาอบรม หลักสูตร “ก้าวสู่องค์การ 4.0 ในยุค disruptive technology อย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ” โดยมุ่งเน้นให้ความรู้และเทคนิคในการปรับปรุงองค์การสู่ระบบราชการ 4.0 อย่างแท้จริง รวม 2 รุ่น ภายในเดือนมิถุนายน 2561

กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยผู้บริหารระดับต่าง ๆ ผู้รับผิดชอบการพัฒนาองค์การ การปรับปรุงคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ หรือเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพต่าง ๆ รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานทั่วไปที่ต้องการพัฒนาตนเอง โดย ก.พ.ร.ได้เปรียบเทียบความเชื่อมโยงของโมเดลเศรษฐกิจไทยแลนด์ 1.0 จนถึงยุค 4.0 ด้วยการฉายภาพให้เป็นชัดเจนว่า พัฒนาการของโมเดลไทยแลนด์ 4.0 เริ่มจากยุค 1.0 ที่เน้นการทำการเกษตร และการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลัก มาเน้นอุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมพื้นและการใช้แรงงานคนเป็นหลัก ก่อนถึงยุคที่ 3.0 อุตสาหกรรมหนัก การส่งเสริมการส่งออก การลงทุน และการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ขณะที่ยุค 4.0 จะเน้นนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์

ส่วนระบบราชการยุค 1.0 เกิดขึ้นช่วงการปฏิรูประบบราชการในสมัยรัชกาลที่ 4 ก่อนก้าวเข้าสู่ยุคที่ 2 มีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เมื่อปี 2504 และปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่อีกครั้งในปี 2545 และปี 2560 ที่ผ่านมา มีการปฏิรูประบบราชการเพื่อรองรับไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งผลในทางปฏิบัติจะปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการปรับปรุงประสิทธิภาพในการให้บริการ

ขณะเดียวกัน ก.พ.ร. ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องการพัฒนาระบบราชการ ได้พัฒนากรอบแนวคิด รูปแบบวิธีการทำงาน ลักษณะสำคัญ รวมทั้งปัจจัยแห่งความสำเร็จที่จะนำพาระบบราชการไทยสู่ระบบราชการ 4.0 เสนอแนะส่วนราชการ และให้หน่วยงานราชการทั้งระบบพัฒนาเครื่องมือทางการบริหารรองรับอาทิ การจัดทำคู่มือประเมินสถานะของหน่วยงานรัฐในการเป็นระบบราชการ 4.0 เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0

การเชิญชวนส่วนราชการประเมินสถานะหน่วยงานเพื่อการปรับปรุงองค์การอย่างเป็นระบบ และส่งเสริมให้ส่วนราชการและบุคลากรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบแนวคิด รูปแบบวิธีการทำงาน

ลักษณะสำคัญของระบบราชการ 4.0 ให้สามารถนำเทคนิคต่าง ๆ ไปใช้ในการปรับปรุงองค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนองนโยบายรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม

เป็นที่มาของโครงการฝึกอบรม หลักสูตร “ก้าวสู่องค์การ 4.0 ในยุค disruptive technology อย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ” ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี หน่วยงานในกำกับของ ก.พ.ร.

มี 8 หัวข้อหลัก ที่มุ่งเน้นเทคนิคการปรับปรุงองค์การสู่ระบบราชการ 4.0 ได้แก่

1.ระบบราชการ 4.0 และทิศทาง/เครื่องมือพัฒนาองค์การ

2.โลกแห่งการเปลี่ยนแปลงกับการบริหารองค์การสมัยใหม่

3.เทคนิคการนำองค์กร เพื่อนำพาสู่ความยั่งยืน การป้องกันการทุจริตและสร้างความโปร่งใส การสร้างการมีส่วนร่วม การใช้เทคโนโลยีในการแก้ปัญหา ฯลฯ

4.เทคนิคการปรับปรุงวิธีการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์

5.เทคนิคการปรับปรุงการให้บริการ และการวัดผลลัพธ์การดำเนินการ

6.เทคนิคการปรับปรุงวิธีการวัด วิเคราะห์ และการจัดการความรู้

7.เทคนิคการปรับปรุงด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล

8.เทคนิคการปรับปรุงและพัฒนาระบบปฏิบัติการ

วัตถุประสงค์เพื่อ 1.เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับแนวคิดระบบราชการ 4.0 เพื่อสนองนโยบายรัฐบาล 2.เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคนิคการปรับปรุงองค์การด้วยการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อให้หน่วยงาน

สามารถพัฒนาได้อย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม สามารถขับเคลื่อนสู่ระบบราชการ 4.0 ได้อย่างรวดเร็ว และ 3.เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างประสบการณ์ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันจนเกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาประเทศ


ผลจะเป็นอย่างไร นำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งวางหรือไม่ สามารถผลักดันให้หน่วยงานราชการ ก้าวสู่องค์การ 4.0 ในยุค disruptive technology อย่างยั่งยืนได้มากน้อยเพียงใด เสียงสะท้อนเกี่ยวกับการทำงานและการให้บริการประชาชนต่อจากนี้ไป จะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี