Trade War รอบใหม่ จีนย้ายฐานการผลิตอีกระลอก

Trade War
คอลัมน์ : นอกรอบ

นโยบายกีดกันทางการค้ากับจีน เป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2024 นี้ ถือเป็นนโยบายที่มีการกล่าวถึงกันมาก โดยเฉพาะนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าจากสินค้าจีน 60% และประเทศอื่น ๆ อีก 10-20% ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” จากพรรครีพับรีกัน ซึ่งคาดว่าจะสร้างความเสี่ยงเงินเฟ้อในสหรัฐ ตลอดจนอาจเกิดการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนอีกระลอก

Trade War รอบแรกจุดเปลี่ยนสำคัญ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า หลังจาก Trade War รอบแรกผ่านมา 6 ปี สหรัฐยังคงขาดดุลการค้ากับจีนสูงในระดับสูง นับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2018 ที่ประธานาธิบดีสหรัฐ “โดนัลด์ ทรัมป์” ใช้มาตรา 301 (Unfair Trade Practice Section 301) ในการขึ้นภาษีสินค้าจีนภายใต้มาตรการปกป้องการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยมุ่งหวังลดขาดดุลการค้าของสหรัฐกับจีน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสหรัฐยังคงขาดดุลการค้ากับจีนในระดับสูงถึง 2.79 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็น 26% ของยอดขาดดุลการค้ารวมของสหรัฐ ในปี 2023 ขณะที่จีนยังคงเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ด้วยสัดส่วน 14% ของการส่งออกโลก

ขณะที่ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนเปลี่ยนรูปแบบไป โดยมีประเทศที่ 3 อย่าง “อาเซียนและเม็กซิโก” เข้ามาเป็นฐานการผลิตของจีนเพื่อส่งออกต่อไปยังสหรัฐ ส่งผลให้สหรัฐนำเข้าจากเม็กซิโก เป็นอันดับ 1 แทนที่จีน และมีการนำเข้าจากอาเซียนเพิ่มด้วย ในขณะที่จีนก็มีการตลาดส่งออกอาเซียนเป็นอันดับ 1 แทนที่สหรัฐ

ผลกระทบสินค้าจีน 3 กลุ่ม

ผลจาก Trade War รอบแรก การเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจีนในอัตราที่แตกต่างกันส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการนำเข้าสินค้าของสหรัฐ จากจีนที่ต่างกัน

สินค้ากลุ่ม 1 ที่มีการเพิ่มภาษีนำเข้าสูงสุดในอัตรา 25% ส่งผลให้สหรัฐ ลดการนำเข้าจากจีนมากที่สุด สินค้าในกลุ่มนี้เป็นสินค้าวัตถุดิบขั้นต้นและกึ่งสินค้าขั้นกลาง อาทิ HDDs ยางล้อ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องบิน อุปกรณ์โทรศัพท์ อาหารสัตว์เลี้ยง เหล็กและอะลูมิเนียม ซึ่งสหรัฐนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ลดลงจาก 2.34 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2017 เหลือ 1.3 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2023

Advertisment

สินค้ากลุ่ม 2 ที่ถูกเก็บภาษีเพิ่ม 7.5% เป็นสินค้าขั้นกลางและกึ่งสำเร็จรูป อาทิ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ สินค้าเกษตรและสิ่งทอ จากผลของภาษีที่ไม่สูงเท่ากลุ่มแรก ทำให้สหรัฐนำเข้าลดลงเล็กน้อย จาก 1.0 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2017 เหลือ 0.9 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2023

สินค้ากลุ่ม 3 ที่ยังไม่ถูกเก็บภาษีเพิ่มเติมใน Trade War รอบแรก สหรัฐจึงยังมีการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น เป็นกลุ่มสินค้าสำเร็จรูปในกลุ่มอุปโภคบริโภค อาทิ สมาร์ทโฟน แท็บเลต โน้ตบุ๊ก เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า กล้องดิจิทัล เกม ของเล่นและเฟอร์นิเจอร์ โดยในปี 2023 มีมูลค่านำเข้า 2.12 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 1.67 แสนล้านดอลลาร์ ปี 2017

Advertisment

มีข้อสังเกตว่า สินค้าจีนกลุ่ม 3 ที่ยังไม่โดนเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าจาก Trade War ในรอบแรก แต่สหรัฐก็มีการนำเข้าจากแหล่งอื่นมากขึ้นไปพร้อม ๆ กับการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากจีน สะท้อนว่าห่วงโซ่การผลิตโลกได้ปรับตัวรองรับความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันทางการค้าไปแล้ว โดยสหรัฐยังมีการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นในสินค้ากลุ่มที่ 3 เนื่องจากจีนเป็นฐานการผลิตสินค้าสำเร็จรูปได้ด้วยต้นทุนต่ำ

แต่ในขณะเดียวกัน สงครามการค้าและโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการบริหารความเสี่ยงด้วยการกระจายฐานการผลิตไปยังอาเซียนและกลุ่มความตกลงสหรัฐ-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA) ซึ่งจะเห็นการนำเข้าของสหรัฐ จากเวียดนาม ไทย เม็กซิโก และอินเดีย เพิ่มขึ้นในสินค้ากลุ่ม 3 นี้ อาทิ โซลาร์เซลล์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางล้อ ยารักษาโรค รถยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น

จับตา Trade War รอบใหม่

ผลการเลือกตั้งสหรัฐ ปี 2024 ไม่ว่าพรรคใดชนะจะสานต่อนโยบาย “กีดกันการค้ากับจีน” ในขณะที่ Trade War รอบใหม่อาจส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนอีกระลอก

ในขณะที่พรรคเดโมแครตมีแนวทางการกีดกันทางการค้ากับจีน โดยขึ้นภาษีสินค้าจีนแบบเจาะจงในกลุ่มสินค้ายุทธศาสตร์ พรรครีพับลิกันจะเป็นการสานต่อ Trade War รอบใหม่ โดยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนแบบครอบคลุม

นอกจากนี้ หากประเทศใดถอยออกจากการใช้เงินสกุลดอลลาร์ จะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าเพิ่มอีก 100% ทั้งนี้ หากเกิด Trade War รอบใหม่ สินค้าในกลุ่มที่ 3 ที่ยังไม่เคยโดนเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มจากสงครามการค้ารอบแรกจะได้รับผลกระทบมากที่สุด และมีแนวโน้มจะเกิดการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนอีกระลอก

“เวียดนาม-เม็กซิโก” รับเต็ม ๆ

รายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า หากมีการย้ายฐานการผลิตอีกระลอก ไทยน่าจะได้อานิสงส์บางส่วนจากอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนเดิมอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี สินค้าในกลุ่ม 3 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าสำเร็จรูป ที่ต้องพึ่งพาจุดแข็งในด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำของจีน ซึ่งเวียดนามและเม็กซิโกน่าจะได้รับประโยชน์มากสุด

“เวียดนาม” ได้อานิสงส์ในสินค้ามีมูลค่าเพิ่มอย่างโน้ตบุ๊ก แท็บเลต สมาร์ทโฟน หูฟัง ของเล่นและเฟอร์นิเจอร์

“เม็กซิโก” ได้ประโยชน์ในกลุ่มรถกระบะ รถบรรทุกและชิ้นส่วน และเฟอร์นิเจอร์

ไทยลุ้นอานิสงส์จีนย้ายฐาน

สำหรับ “ประเทศไทย” น่าจะได้อานิสงส์ในกลุ่มที่มีการลงทุนอยู่เดิม เช่น เซมิคอนดักเตอร์ โซลาร์เซลล์ ชิ้นส่วนกล้องดิจิทัล ถุงมือการแพทย์ ถุงมือยาง น้ำผลไม้ อุปกรณ์โทรทัศน์ PCA และของเล่น เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรฯสรุปว่า นโยบายกีดกันทางการค้า Trade War รอบใหม่ของสหรัฐ แม้ว่าในทางปฏิบัติจะได้รับคะแนนนิยมทางการเมือง และยังใช้เป็นเครื่องมือเจรจาต่อรองกับจีนและนานาประเทศ เพื่อให้สหรัฐได้ประโยชน์ทางการค้ามากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและสหรัฐมากเช่นกัน ยังไม่นับรวมกับผลกระทบกรณีมีการตอบโต้ด้วยมาตรการกีดกันทางการค้าจากหลาย ๆ ประเทศ ที่ยิ่งจะส่งผลกระทบทางลบที่มากขึ้นต่อทิศทางการค้าและเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม ไทยในฐานะเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนก็คาดว่า หากเกิดการย้ายฐานการผลิตอีกระลอก ไทยคงจะได้รับอานิสงส์เพียงบางส่วน เนื่องจากในสินค้ากลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตมากที่สุดนั้น ไทยมีข้อได้เปรียบที่จำกัดจากเรื่องต้นทุนการผลิต เมื่อเทียบกับเวียดนามและเม็กซิโก