เหตุผลที่ไทยก้าวไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลาง

กรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานคร
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : รุ่งนภา พิมมะศรี

ไทยเป็นประเทศแรก ๆ ในอาเซียนที่ก้าวขึ้นเป็น “ประเทศรายได้ปานกลาง” ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 แล้วก็ติดอยู่ใน “กับดักรายได้ปานกลาง” มาหลายสิบปี

ตอนนี้รัฐบาลไทยมีเป้าหมายที่จะเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2037 (พ.ศ. 2580) โดยยานพาหนะหนึ่งที่ไทยหวังว่าจะช่วยไทยได้ คือ การเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งจะช่วยให้ไทยปฏิรูปเชิงโครงสร้างต่าง ๆ ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้

ก่อนไปว่ากันเรื่องอนาคต อยากชวนมองย้อนไปดูในอดีตและมองปัจจุบันว่าเพราะเหตุใดไทยจึงพยายามก้าวเท่าไหร่ก็ก้าวไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลางเสียที

เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้อ่านบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจเรื่องที่ว่า มีข้อจำกัดอะไรบ้างที่ทำให้ประเทศไทยก้าวไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลาง เผยแพร่ในเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ (South China Morning Post) เขียนโดย โดนัลด์ โล้ว (Donald Low) ศาสตราจารย์และผู้อำนวยการหลักสูตรผู้บริหารด้านภาวะผู้นำและนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง

ศาสตราจารย์โดนัลด์ โล้ว อ้างถึงรายงาน “The Middle-Income Trap” (กับดักรายได้ปานกลาง) ของธนาคารโลก (World Bank) ที่เผยแพร่เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า รายงานนี้เน้นย้ำถึงความท้าทายสำคัญของไทย นั่นคือ การจะก้าวไปสู่สถานะรายได้สูงได้นั้นจำเป็นต้องมีการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมในประเทศ

การพัฒนาโครงการอสังหาฯล้นเกินดีมานด์ คือปัจจัยแรกที่ศาสตราจารย์โดนัลด์มองว่า เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาไปสู่ประเทศรายได้สูงของไทย โดยโฟกัสไปที่อสังหาฯเชิงพาณิชย์ อย่างศูนย์การค้าและโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่

Advertisment

เขาวิเคราะห์ว่า แม้ว่าโครงการอสังหาฯขนาดใหญ่เหล่านี้จะช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้กับเมือง แต่ก็ไม่น่าจะมีส่วนสนับสนุนการเติบโตหรือการสร้างสรรค์นวัตกรรมในระยะยาวของประเทศไทยได้ อีกทั้งยังทำให้ “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและพื้นที่” เลวร้ายลงด้วย

ศาสตราจารย์โดนัลด์มองว่า ในประเทศกำลังพัฒนา อสังหาริมทรัพย์หรูหราจำนวนมากมักเป็นสัญญาณของการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินที่ไม่เหมาะสม มีเงินทุนไหลเข้าสู่กิจกรรมเก็งกำไร ซึ่งอาจทำกำไรได้ในระดับส่วนบุคคล แต่ให้ประโยชน์เพียงเล็กน้อยต่อการพัฒนาโดยรวม และโดยทั่วไปแล้วภาคอสังหาริมทรัพย์จะไม่เพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีของประเทศหรือช่วยปรับปรุงทักษะและผลิตภาพของแรงงาน

Advertisment

การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่หนักหน่วงมักจะมาพร้อมกับระดับหนี้องค์กรและหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดฟองสบู่ด้านสินทรัพย์ แล้วเมื่อฟองสบู่เหล่านั้นแตก ค่าใช้จ่ายทางสังคม เช่น ความมั่งคั่งที่ลดลง การบริโภคที่ลดลง การช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐโดยใช้เงินภาษี และภาวะเศรษฐกิจถดถอย จะมากเกินกว่าผลประโยชน์ที่ได้มาในระยะสั้นอย่างมาก ดังที่เห็นได้จากการต่อสู้ดิ้นรนของจีนในปัจจุบัน

การพัฒนาอสังหาฯใหญ่ ๆ มักถูกมองว่าเป็นหน้าเป็นตาของประเทศที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ แต่ศาสตราจารย์โดนัลด์มองว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาด้านเทคโนโลยี -ซึ่งจำเป็นต่อการเป็นประเทศรายได้สูง- เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยมีขนาดใหญ่ผิดปกติ คิดเป็นประมาณ 11% ของจีดีพี ซึ่งเมื่อมีเหตุการณ์อย่างโควิด-19 ที่กระทบการท่องเที่ยว ก็ทำร้ายเศรษฐกิจไทยไปมาก ทำให้เศรษฐกิจไทยโตช้ามากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ปัจจัยที่สอง คือ ภาคการผลิตของไทยพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศมากเกินไป กลุ่มบริษัทของไทยเองมุ่งเน้นที่ภาคการเกษตร ทรัพยากร และบริการ ที่ใช้เทคโนโลยีน้อย ซึ่งเป็นรูปแบบทั่วไปในประเทศรายได้ปานกลาง

ส่วนปัจจัยที่ 3 คือ การเมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ฝังรากลึก แม้ว่าจะมีนักเทคโนแครตที่มีความสามารถอยู่ในรัฐบาลไทย แต่พวกเขาก็ต้องพบว่าเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งในการที่จะกำหนดนโยบายเศรษฐกิจที่เหมาะสมสำหรับระยะยาวในสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่มักมีการมองระยะสั้น ๆ และมีความแตกแยกอย่างรุนแรง

นี่คืออีกหนึ่งมุมมองของคนนอกที่รับฟังไว้ก็ไม่เสียหายอะไร เพราะเรื่องบางเรื่องเราอาจจะรู้ตัว แต่เรื่องบางเรื่องเราก็ไม่รู้ตัว-ต้องให้คนอื่นบอก 

…ส่วนเรื่องที่รู้ตัวอยู่แล้วแต่ไม่พยายามแก้ไข เป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของไทยเช่นกัน