บทบรรณาธิการ
หลังจากที่ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีมติเห็นชอบ “หลักการ” ในการปรับปรุงสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ไปเมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยการปรับปรุงสัญญาดังกล่าวถือเป็น “หัวใจ” สำคัญที่รัฐบาลเชื่อว่า จะสามารถผลักดันให้โครงการดำเนินการต่อไปได้หลังจากที่ประสบความล่าช้ามาไม่ต่ำกว่า 5 ปี โดยนับจากวันที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน ในเดือนตุลาคม 2562
ความล่าช้าดังกล่าวอาจพูดได้ว่า ไม่ได้เกิดจากคู่สัญญา บริษัท เอเชีย เอรา วัน เพียงฝ่ายเดียว แต่ยังเกิดจากการระบาดของโควิด-19 การส่งมอบพื้นที่โครงการล่าช้า และเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนของ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จนอาจเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า “ผิดทั้งคู่” แต่ในคำกล่าวนั้นจะต้องมาชั่งน้ำหนักดูว่า รัฐบาลชุดที่ผ่าน ๆ มาได้เร่งแก้ปัญหาและชดเชยความล่าช้าที่เกิดขึ้นจากข้ออ้างการระบาดของโควิด-19 และการไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ส่วนใหญ่อันเป็นสาระสำคัญของโครงการได้หรือไม่
แต่มาครั้งนี้ การเจรจาเพื่อขอแก้สัญญาระหว่าง ร.ฟ.ท.กับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน ถือเป็นความหวังได้ว่า โครงการจะประสบความสำเร็จ ด้วยเหตุที่ว่า สาระสำคัญในการขอแก้สัญญาครอบคลุมกับข้อเรียกร้องตลอดระยะเวลา 5 ปีที่เริ่มต้นเซ็นสัญญา ไม่ว่าจะเป็น วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน (Public Investment Cost) จากเดิมที่รัฐจะแบ่งจ่าย มาเป็นการจ่ายเป็นงวด ๆ ตามความก้าวหน้าของงาน นั้นหมายความว่า บริษัท เอเชีย เอรา วัน จะได้รับเงินค่าก่อสร้างเร็วขึ้น โดยมีเงื่อนไขให้บริษัทต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม
หรือการชำระค่าสิทธิในการร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดยให้แบ่งชำระค่าสิทธิเป็น 7 งวดเป็นรายปีจำนวนเท่า ๆ กัน แต่บริษัทก็ต้องวางหนังสือค้ำประกันมีมูลค่าเท่ากับค่าสิทธิ (ARL) ที่ได้รับ และการกำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติม หากดอกเบี้ยเงินกู้โครงการลดลงในอนาคต ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของบริษัทเพื่อขอบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 มาตั้งแต่ต้น
ที่สำคัญก็คือ การ “ยกเว้น” เงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งเป็นข้อต่อรองหลังสิ้นสุดการระบาดของโควิด-19 เพื่อให้บริษัทไม่ต้องนำหนังสือ NTP มายื่นให้กับ ร.ฟ.ท.ให้เริ่มงานก่อสร้างโครงการได้
ด้านหนึ่งควรที่รัฐบาลจะต้องเร่งนำการปรับปรุงแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว เพื่อที่จะนำไปสู่การลงนามในสัญญาฉบับปรับปรุงใหม่อันเป็นผลผูกพันให้ บริษัท เอเชีย เอรา วัน เริ่มต้นการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเสียที อีกด้านหนึ่งก็ยังเป็นข้อพิสูจน์การบริหารจัดการในส่วนของการเงิน-การลงทุนของ บริษัท เอเชีย เอรา วัน เองที่ว่า ยังมีความพร้อมที่จะดำเนินโครงการนี้ต่อไปด้วยหรือไม่