คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ ผู้เขียน : วุฒิณี ทับทอง
งานมหกรรมยานยนต์ หรือ งาน MOTOR EXPO 2024 กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ในวันที่ 28 พ.ย. ที่จะถึง จัดยาวต่อเนื่อง 12 วัน ไปจนถึงวันที่ 10 ธ.ค. 2567
จากการอัพเดตจำนวนค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมงานบน www.motorexpo.co.th ปรากฏว่ามี ค่ายรถยนต์เข้าร่วม 49 แบรนด์ (ณ วันที่ 29 ต.ค. 2567)
รถจักรยานยนต์ มี 22 แบรนด์ และยูสคาร์อีก 5 แบรนด์
ในจำนวนนี้มีค่ายรถยนต์น้องใหม่แบรนด์จากจีนแผ่นดินใหญ่ เข้ามาร่วมวงทำตลาดด้วย อย่างน้อย 10 แบรนด์ ได้แก่ ZEEKR, RIDDARA, OMODA, LEAPMOTOR, JUNEYAO, JAECOO, GEELY, DENZA, AVATR และยังมีแบรนด์ในตลาดรถเพื่อการขนส่ง เชิงพาณิชย์ อย่าง BYD COMMERCIAL, KING LONG เข้าร่วมด้วย
ต้องบอกว่า งานมอเตอร์ เอ็กซ์โป ปีนี้ถือเป็นความท้าทายของบรรดาผู้ประกอบการค่ายรถต่าง ๆ โดยเฉพาะชาเลนจ์ใหญ่ในการผลักดันยอดขายให้เข้ามาอยู่ในมือให้ได้เป็นกอบเป็นกำ
หลังจากการประเมินตัวเลขยอดขายล่าสุด ที่ผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ สำนักฟันธงกันว่า ทั้งปีต้องลุ้นว่าจะไปแตะ 600,000 คันได้หรือไม่
ความท้าทายของค่ายรถยนต์ใหญ่ ๆ ที่เข้ามาสร้างความหวือหวาในการทำตลาดในบ้านเราแล้ว บรรยากาศปีนี้อาจจะไม่เหมือนช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากความหอมหวานของการตอบรับ ทั้งในแง่ยอดขายการสร้างแบรนด์และภาพจำ เกือบจะตรงกันข้าม
ความยากของค่ายรถแบรนด์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะแบรนด์จากจีน คือ ทำอย่างไรให้ผู้บริโภค วางใจ ลดความหวาดระแวง ควบคู่ไปกับการสร้างมาตรฐานและความน่าเชื่อถือ คำถามที่จะเกิดขึ้น ตลอดช่วงที่ผ่านมา หลายคนเกิดความ “ระแวง” ในการตัดสินใจซื้อรถใหม่สักคัน
ยิ่งเป็นแบรนด์จีน ภาพจำที่ฝั่งในใจของผู้บริโภควันนี้ “ซื้อก่อน ได้ใช้ก่อน และเจ็บก่อน” สงครามราคาที่ผู้ประกอบการนำมาห้ำหั่นกัน ทำให้หลายคนรอ หลายคนลังเล
จากตัวเลขยอดจองปีที่ผ่านมา งานมอเตอร์ เอ็กซ์โป ถือเป็นปีที่ประสบความสำเร็จ รถยนต์มีจองสูงถึง 53,248 คัน จักรยานยนต์ 7,373 คัน ขณะที่สัดส่วนของผู้ร่วมกิจกรรม “ซื้อรถ…ชิงรถ” แบ่งตามประเภทเครื่องยนต์พบว่า รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป 61.6% และเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 38.4%
ส่วนปีนี้ แม้ผู้จัดงานยังไม่ออกมาประเมินตัวเลขคาดการณ์ยอดจองรถภายในงาน แต่จากสถานการณ์โดยรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ปัญหาความเข้มงวดของสถาบันการเงิน มาตรการการปล่อยสินเชื่อที่ยาก และลากยาวมาตั้งแต่ต้นปี
ปัญหาหนี้เสียที่หลายฝ่ายพยายามหามาตรการช่วยเหลือและแก้ไขโดยเฉพาะมาตรการ ปลดล็อก “ยืดเวลายึดรถ” จากค้างจ่าย 3 เดือน เป็น 6 เดือน เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี-เกษตรกร ได้มีกำลังประกอบอาชีพ และค่อย ๆ ช่วยกันขับเคลื่อนตลาดในภาพรวม โดยเฉพาะกลุ่มรถปิกอัพที่อยู่ในวิกฤตมาพักใหญ่
ส่วนรถอีวี หรือรถยนต์ไฟฟ้า ที่ดาหน้าเข้ามา ทั้งแบรนด์ใหม่ รุ่นใหม่ ก็หวังว่าปลายปีของมาตรการ อีวี 3.5 จะจูงใจ (พอ) ให้ดันยอดในโค้งสุดท้ายของมาตรการได้จริงหรือไม่
หลายคนยัง แคลงใจ…สงครามราคา ที่ถูกนำมาใช้ จะเพิ่มดีกรีความรุนแรงอีกหรือไม่
มนต์ขลังของงาน มหกรรมยานยนต์ที่ช่วยผลักดันกระตุ้นยอดขายปลายปี จะยังขลังอยู่หรือไม่
ในภาวะที่กำลังซื้ออ่อนแอ ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงต่อเนื่อง เศรษฐกิจตกต่ำ
หลาย ๆ คนยังเอาใจช่วยและขอให้ทุกคนก้าวผ่านเส้นแบ่งของความยากลำบากตรงนี้ไปให้ได้