ตั้งรับนโยบายการค้า ‘ทรัมป์’

Donald Trump (AP Photo/Evan Vucci)
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ชัยชนะของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐ ได้สร้างความหวั่นไหวในนโยบายการค้า-การลงทุนให้กับโลกและประเทศไทย โดยทรัมป์ได้ประกาศแนวนโยบาย America First ที่จะใช้ในอีก 4 ปีข้างหน้าในระหว่างการหาเสียงไว้ว่า สหรัฐจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าทั้งหมดจากจีนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อยร้อยละ 60 และประเทศอื่น ซึ่งหมายรวมถึง ประเทศไทย เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10

ด้านนโยบายการลงทุน ทรัมป์ ต้องการที่จะดึงดูดการลงทุนกลับเข้าสู่สหรัฐ เพื่อสร้างงาน ทดแทนการนำเข้าสินค้า ด้วยการใช้มาตรการจูงใจทางภาษี รวมไปถึง ความเป็นไปได้ที่จะถอนตัวออกจากข้อตกลง Paris Agreement การชะลอร่างกฎหมาย Clean Competition Act ว่าด้วยการเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้า หรือการไม่เอา นโยบายสีเขียว อันจะมีผลทำให้การค้าสินค้าสะอาดเปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงนโยบายสีเขียว ยังอาจนำมาซึ่งการฟื้นฟูการลงทุนในแหล่งปิโตรเลียมภายในสหรัฐ ด้วยการผ่อนคลายข้อบังคับว่าด้วยนโยบายสีเขียวต่าง ๆ ลง เกิดโอกาสในการผลิตรถยนต์สันดาปภายในสหรัฐให้แข่งขันกับรถยนต์ไฟฟ้า EV ของจีน ที่จะถูกตั้งกำแพงภาษีนำเข้าที่สูงมาก

สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมตั้งรับเสียแต่บัดนี้ ไม่ใช่รอดูนโยบายภายหลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ ในช่วงเดือนมกราคม 2568

โดยการวิเคราะห์สถานการณ์การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐจากสำนักวิจัยและศึกษาต่าง ๆ ส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่า ประเทศไทยมีโอกาสที่จะ “เสีย” มากกว่า “ได้” ประโยชน์จากนโยบายการค้าและการลงทุนของทรัมป์ หากไทยไม่ทำอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกสินค้าไทยไปทดแทนสินค้าจากจีนในรายการที่ถูกขึ้นภาษีนำเข้าสูง ๆ

ซึ่งส่วนใหญ่คาดการณ์กันว่าจะเป็นสินค้าในกลุ่ม Consumer Goods ซึ่งจีนมีต้นทุนต่ำ แต่ไทยไม่ได้เป็นฐานการผลิตสินค้าเหล่านี้ และต้นทุนการผลิตก็สู้สินค้าจากเวียดนามและเม็กซิโกไม่ได้

ADVERTISMENT

การที่ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าต้นทุนต่ำนอกเหนือจากจีนที่จะถูกสหรัฐตั้งกำแพงภาษีแล้ว ยังอาจทำให้สินค้าจีนที่ส่งเข้าไปจำหน่ายในตลาดสหรัฐไม่ได้ “ทะลัก” เข้าสู่ตลาดประเทศอื่น ๆ รวมทั้งตลาดไทย ที่ปัจจุบันต้องเผชิญกับสินค้าราคาถูกจากจีนอยู่แล้ว

ที่สำคัญก็คือ ไทย ยังถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐให้อยู่ใน กลุ่มประเทศที่ทำการค้า “เกินดุล” กับสหรัฐเพิ่มขึ้นทุกปี นับจากสมัยที่ ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก โดยในปี 2566 ปรากฏตัวเลขน่าตกใจที่ว่า สหรัฐเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับไทยถึง 29,371 ล้านเหรียญ

ADVERTISMENT

ตัวเลขนี้จึงเป็นข้ออ้างสำคัญที่ประเทศไทยอาจจะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้า หรือถูกตัด GSP แบบที่เคยเผชิญมาแล้วในอดีต ดังนั้นการอ้างความสัมพันธ์พิเศษที่มีมาอย่างยาวนานภายใต้สนธิสัญญาไมตรีและความสัมพันธ์ปี 2509 ข้อตกลงการค้าและการลงทุนปี 2545

ด้วยความเชื่อแต่ฝ่ายเดียวที่ว่า สหรัฐ จะยกเว้นการกีดกันทางการค้าที่จะใช้กับไทย จึงไม่ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงของโลกทางการค้าในปัจจุบัน