บทบรรณาธิการ
คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการ ได้ลงมติเมื่อวันที่ 11 พ.ย. เลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ซึ่งเป็นรายชื่อที่กระทรวงการคลังเสนอ ขึ้นเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ และเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 ราย เลือกจากที่กระทรวงการคลังเสนอ 1 ราย คือนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเป็นอดีตลูกหม้อกระทรวงการคลัง อีกรายคือนางชุณหจิต สังข์ใหม่ อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นชื่อที่ทาง ธปท.เสนอ หลังจากใช้เวลาประชุมยาวนานเกือบ 5 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 10.00 น. จนถึงเวลาประมาณ 14.45 น. นายสถิตย์ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกไม่ได้มีการแถลงข่าว แต่ได้ยื่นเอกสารให้แก่สื่อมวลชน แจ้งว่ากระบวนการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท.ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว และเลขานุการจะดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดต่อไป
สำหรับขั้นตอนต่อไป ประธานกรรมการจะนำเสนอชื่อต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว จะนำทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้ง ส่วนกรณีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาแต่งตั้งต่อไป นายกิตติรัตน์ถือเป็นประธานแบงก์ชาติคนที่ 5 นับตั้งแต่เริ่มบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 โดยประธานคนแรก ได้แก่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ต่อมาคือ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ต่อมานายอำพน กิตติอำพน และก่อนหน้านี้คือนายปรเมธี วิมลศิริ
นายกิตติรัตน์ เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2501 จบมัธยมตอนต้นจากโรงเรียนอัสสัมชัญ, มัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, ปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเป็นกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าสู่การเมืองปี 2554 กับพรรคเพื่อไทย เคยรับตำแหน่งรองนายกฯ รมว.พาณิชย์ , รมว.คลัง การเข้ารับตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติครั้งนี้ มีการต่อต้านจากกลุ่มพนักงานและอดีตผู้บริหารแบงก์ชาติ โดยอ้างว่าเป็นการแทรกแซงจากการเมือง
อย่างไรก็ตาม การเสนอแต่งตั้งตำแหน่งดังกล่าวเป็นอำนาจและบทบาทของ รมว.คลัง ซึ่งเป็นตำแหน่งการเมือง ส่วนบทบาทของนายกิตติรัตน์จะต้องเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดกรอบการทำหน้าที่ไว้แล้ว จึงน่าสนใจว่าบทบาทของประธานบอร์ดคนใหม่จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในแง่ของการกำกับดูแลเชิงนโยบายให้ ธปท.บริหารจัดการให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน