ปัญญาอดีต หวนถึงอดีต เพื่อมองหาปัจจุบัน

คอลัมน์ ระดมสมอง โดย รณดล นุ่มนนท์

ในการประชุมสายงานเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ได้ใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง พาเราท่องไปสู่โลกอนาคตในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และหากพวกเราใส่ใจพร้อมจะเปลี่ยนแปลง กล้าลงมือทำ ก็จะมองเห็นอนาคต แต่ที่สำคัญคือ การเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนแปลง และจัดการตัวเอง พร้อมถามตัวเองว่า เรารู้จักตัวเองดีพอหรือยัง พร้อมจะเผชิญหน้า กล้าจะเปลี่ยนแปลงตนเองไหม และเริ่มวิเคราะห์และเปลี่ยนแปลงด้วยการทุ่มเทพลังพัฒนาจุดแข็งของตัวเอง คุณภิญโญได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ภายในเวลาไม่ไกลเกินเอื้อม สิ่งที่พวกเราคิดว่ามีและเป็นอยู่จะหายไป เราต้องปรับเปลี่ยนความคิดให้ทันการเปลี่ยนแปลง ต้องทบทวนตนเอง แล้วใช้สิ่งที่มี สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากเราไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองก็จะมีคนมาเปลี่ยนแปลงเราในที่สุด

เนื้อหาการบรรยายส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวที่คุณภิญโญได้เขียนไว้ในหนังสือ Future : ปัญญาอนาคต คุณภิญโญได้ฝากหนังสือให้ผมอ่านอีก 2 เล่มคือ

ปัญญาอดีต และ One Million ปัญญาหนึ่งถึงร้อยหมื่น เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ series ในชุดนี้ ทำให้ผมใช้เวลาในเช้าวันเสาร์อ่านหนังสือปัญญาอดีตจนจบเล่มแบบรวดเดียวจบ เพื่อสานความคิดต่อจากในเรื่องปัญญาอนาคต เนื้อหาในหนังสือชักชวนให้เราหวนถึงอดีต เพื่อมองหาปัจจุบัน ในการวางรากฐานให้กับอนาคต ด้วยการสอดแทรกห้วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่ได้ทำให้โลกและประเทศไทยมาถึง ณ เวลานี้ ตั้งแต่เรื่องราวของไทยเมื่อครั้งพระเจ้าตากสินกอบกู้กรุงไปจนถึงช่วงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ความขัดแย้งระหว่างก๊กทั้งสามในตำนานพงศาวดารสามก๊ก ไปจนถึงนักคิดค้นในฝั่งยุโรปที่นำมาสู่ จุดกำเนิดของแนวคิดที่เปลี่ยนโลก

พระเจ้าตากสินทรงพระราชสมภพในฐานะสามัญชนลูกชาวจีน มีอาชีพค้าขายทางเกวียนได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองตาก และเมื่อนำทัพเข้ามาช่วยต่อสู้กับพม่าที่ล้อมกรุงอยู่ ท่านได้ตัดสินใจอย่างกล้าหาญ ด้วยความเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นที่จะพากำลังคนตีแหกค่ายพม่าไปสร้างฐานที่มั่น ณ เมืองจันทบุรีและประกาศตนเป็นกษัตริย์ด้วยพระชนมายุเพียง 33 พรรษา

คุณภิญโญให้ความเห็นว่า “น่าเสียดายที่เรากำลังค่อย ๆ ทำให้คุณสมบัติข้างต้นหายไป จากความสะดวกสบาย ความปลอดภัยในชีวิต เราจำนวนไม่น้อย กลับละทิ้งความมุ่งมั่นปรารถนา (passion) ของเราไปและยอมกลับไปใช้ชีวิตในพื้นที่สะดวกสบาย (comfort zone) โดยหารู้ไม่ว่า ภัยคุกคามต่าง ๆ กำลังคืบคลานมา เฉกเช่นเดียวกับอยุธยา ที่กำลังถูกทัพพม่าโอบล้อมจากทุกด้าน

อดัม สมิธ นับเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของโลก ที่ได้จุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แนวคิดในการสร้างความมั่นคงของชาติ ที่วัดด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ชีวประวัติของ อดัม สมิธ จึงเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งสมิธเติบโตขึ้นมาในเคิร์กคอลดี (Kirkcaldy) เมืองท่าสำคัญของสกอตแลนด์ เป็นเมืองที่มีผู้คนหลากหลายอาชีพมาอยู่รวมกัน ตั้งแต่ชาวประมง คนงานเหมืองถ่านหิน คนงานขนเศษเหล็ก ช่างทาตะปู ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ศุลกากรทำให้สมิธได้เรียนรู้วิถีชีวิตของพวกเขาพร้อม ๆ กับอยู่ในเหตุการณ์ในช่วงของการเปลี่ยนแปลง จากเมืองท่าที่เคยรุ่งเรืองกลายเป็นเมืองท่าที่ล้าสมัยและทดแทนด้วยเมืองท่ากลาสโกว์ฝั่งตะวันตก ภายหลังการค้ากับอเมริกาเริ่มเฟื่องฟู

สมิธเข้าเรียนในสถานศึกษาในเมืองกลาสโกว์ เป็นเด็กที่รักการอ่านและการเรียนรู้และใช้เวลานอกห้องเรียนไปพูดคุยกับนักปรัชญาด้านจริยศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่คือ ฟรานซิส ฮัตเชสัน (Francis Hutcheson) จนในที่สุดเขาได้รับทุนศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดด้วยวัยเพียง 17 ปี แทนที่สมิธจะเข้าเรียนหนังสือในห้องเรียนเหมือนกับเพื่อน ๆ เขากลับใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย

เมื่อเขาสำเร็จการศึกษา เขาได้เป็นอาจารย์สอนหนังสือและได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการศึกษา เพิ่มเติมด้วยการแลกเปลี่ยนความเห็นกับนักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ที่โด่งดังทั่วโลก

นอกจากจะได้พบกับผู้ที่อยู่ในแวดวงอาชีพเดียวกันแล้ว เขายังมีโอกาสได้พบกับปัญญาชนแห่งยุคที่รวมตัวกันตั้ง The Club ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็น literary club หรือวรรณคดีสโมสร ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เจมส์ วัตต์ (James Watt) ผู้ค้นคิดเครื่องจักรไอน้ำ ที่นำมาสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษนั่นเอง

ด้วยประสบการณ์และความรู้ที่เขาสะสมมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เขาสามารถประมวลความคิด จนเป็นที่มาของหนังสือ The Wealth of Nations จุดเริ่มต้นของแนวคิดของเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน

คุณภิญโญได้สรุปไว้ว่า “การเปลี่ยนแปลงที่ก้าวล้าทุกยุคทุกสมัย จึงเริ่มต้นด้วยแนวคิดใหม่ ก่อนที่ใครบางคนจะเริ่มลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ยังให้เกิดผลเป็นลูกโซ่ ดังคลื่นที่หายไปจากฝั่งช้า ๆ ก่อนสึนามิใหญ่จะถาโถมเข้ามา สิ่งเก่าจะจมลงตรงเบื้องหน้า

สิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาจะปรากฏเรื่องราวชีวประวัติของท่านเหล่านั้นถือได้ว่าเป็น startup ในยุคบุกเบิก และให้พวกเรา ได้ทบทวนความคิดผิด ๆ ที่ว่า”อดีตมันผ่านไปแล้ว ปล่อยวางไปเถอะ”

เพราะเรื่องในอดีตที่ท่านเหล่านั้นเพียบพร้อมด้วยความกล้า มองไกล คิดการใหญ่ เห็นภาพใหม่ ใจกว้าง ปล่อยวาง และคิดชัด พร้อมวางรากฐานให้กับปัจจุบัน และยังเป็นแรงผลักดันให้เกิดขึ้นในอนาคต ดังที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ได้กล่าวไว้ว่า “ติดตามแสงแห่งตะวัน เราผลันทิ้งโลกเก่า” (Following the Light of The Sun, We Left the Old World.)