คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ
ตลาดหุ้นไทยเกิดปรากฏการณ์ที่ดี นักวิเคราะห์หลายสำนักชี้ว่า เกิดจากความกังวลต่อเสถียรภาพการเมืองคลายลง หลังศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องวินิจฉัย “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครอง ส่งผลต่อการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะสั้น-กลางของรัฐบาล นักลงทุนบางส่วนซื้อหุ้นบลูชิพ สะท้อนความมั่นใจที่มากขึ้น
โดยก่อนหน้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา กระแสการวิเคราะห์สถานการณ์การเงิน สะท้อนความวิตกกังวลใน 2 เรื่องใหญ่ ๆ คือ การเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะคดีผู้ร้องกล่าวหาอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย มีพฤติกรรมใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย 6 ประเด็น เป็นการกระทำขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 49 มีโทษรุนแรงถึงยุบพรรค และอีกเรื่องคือ ผลกระทบจากนโยบายของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ที่มีนโยบายเข้มข้นในเรื่องการได้เปรียบเสียเปรียบทางการค้า ที่ยังต้องติดตามกันต่อไป
แน่นอนว่าปัญหาการเมือง จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อตลาดหุ้น และเศรษฐกิจไทยต่อไป เพียงแต่จะเปลี่ยนเนื้อหาไปเรื่อย ๆ ปัญหาจากคดีความทางการเมือง เกี่ยวกับอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ยังมีคดีที่มีผู้ร้องไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ระบุว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล รวม 6 พรรค ไปร่วมประชุมกับนายทักษิณที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี และอ้างอิงถึงการให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณหลายครั้งเกี่ยวกับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี
การนำวิสัยทัศน์ที่นายทักษิณได้แสดงไว้ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. มาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล ถือเป็นพฤติกรรมครอบงำและยินยอมให้เกิดการครอบงำเป็นความผิดตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองมาตรา 29 ซึ่ง กกต.รับเรื่องไว้พิจารณา และเรียกผู้ร้องเข้าให้ปากคำ และอาจจะมีการขอขยายเวลาพิจารณา ครั้งละ 30 วัน ก่อนนายทะเบียนพรรคการเมือง จะเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอาจเสนอให้มีการยุบพรรค ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 92 (3)
จนกว่าคดีครอบงำจะยุติลง ด้วยข้อสรุปอย่างใดอย่างหนึ่ง จาก กกต.หรือศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อเศรษฐกิจของประเทศต่อไป หลังจากนี้ อาจมีการร้องคดีอื่นเข้ามาอีก ปัญหาการเมืองที่มีผลกระทบเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เกิดขึ้นได้กับทุกประเทศ รวมถึงประเทศประชาธิปไตยทั่วไปด้วย เพียงแต่ว่า
ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้น ควรเป็นปัญหาการเมืองจากระบบที่เป็นมาตรฐาน และมีหนทางแก้ไขตามระบบ ไม่ใช่ปัญหาการเมืองจากระบบที่ยังมีข้อโต้แย้ง กฎกติกาหลักของประเทศไทย เกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหาร 2557 และรับอิทธิพลความเชื่อทางการเมือง จากรัฐประหาร 2549 และ 2557 จนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการรัฐศาสตร์ว่า มีความล้นเกินในหลายเรื่อง ควรจะมีการแก้ไข แต่ก็เกิดปัญหาเห็นต่างในระหว่างพรรครัฐบาล ทำให้กระบวนการต้องหยุดลงในขณะนี้