ผู้เขียน : วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์
บอกหน่อยได้ไหม : เหตุใดสนธิสัญญาไทย (สยาม)-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 (Franco-Siamese Treaty of 1907) ฉบับภาษาไทยกับภาษาฝรั่งเศส จึงมีข้อความไม่ตรงกัน
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประเด็นเรื่อง “เกาะกูด” กลับมาเป็นที่สนใจของสังคมไทยอีกครั้ง หลังจากการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่มีการกล่าวถึง “การเจรจาประเด็นพื้นที่ซับซ้อนกับประเทศกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน…” แทรกอยู่ในนโยบายด้านพลังงาน ทําให้มีคนพยายามปลุกประเด็นการแบ่งเขตแดนทางทะเลระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา ให้เป็นประเด็นทางการเมืองเพื่อสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาล
โดยมุ่งเน้นในเรื่องการเสียดินแดน “เกาะกูด” ให้แก่กัมพูชา และเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกบันทึกความเข้าใจ MOU 44 หรือ “บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน” ซึ่งก็มีทั้งนักการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน นักวิชาการ นักกฎหมาย และผู้รู้อื่น ๆ ต่างก็ออกมาให้ความเห็นต่อสาธารณะ มีทั้งที่เห็นว่าควรบอกเลิก และที่เห็นว่าไม่ควรบอกเลิก MOU 44
ผมก็เป็นคนหนึ่งที่มีความสนใจที่จะค้นหาความจริง ว่าประเด็นต่าง ๆ ที่มีการนําเสนอต่อสาธารณะมีข้อเท็จจริงและความเป็นมาอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่อง “เกาะกูด” ว่าเหตุใดจึงกลายเป็นปัญหาว่าเป็นดินแดนของใคร ทั้ง ๆ ที่เป็นที่ทราบกันดีว่า ตาม “สนธิสัญญาไทย (สยาม)-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 (Franco-Siamese Treaty of 1907)” ไทย “ยอมยกดินแดนเมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ และเมืองศรีโสภณ ให้แก่กรุงฝรั่งเศส” (ที่ปกครองกัมพูชาอยู่ในขณะนั้น) ส่วนรัฐบาลฝรั่งเศส “ยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้ายและเมืองตราด กับเกาะทั้งหลายที่อยู่ภายใต้แหลมสิงลงไป จนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยาม”
ระหว่างที่ผมรวบรวมข้อมูลเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาในเรื่องเกี่ยวกับ “เกาะกูด” และ “เขตทางทะเล” ผมก็ไปพบประเด็นใหม่ที่เข้าใจว่ายังไม่มีใครเคยกล่าวถึง คือ
ข้อความใน “สนธิสัญญาไทย (สยาม)-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 (Franco-Siamese Treaty of 1907)” ที่ปรากฏในเอกสารคู่สัญญาที่ทํากันเป็น 2 ภาษาคือ “ภาษาไทย” และ “ภาษาฝรั่งเศส” นั้น มีเนื้อความบางประการที่คลาดเคลื่อนกัน
โดยฉบับภาษาไทยที่ผมใช้ เป็นฉบับที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 24 หน้า 344-349 ลงวันที่ 7 กรกฎาคม ร.ศ. 126 (พ.ศ. 2450) (https://ratchakitcha.soc.go.th/) ส่วนฉบับภาษาฝรั่งเศส ผมได้มาจากเพื่อนที่เคยเป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งที่เผยแพร่อยู่ในวิกิซอร์ซ (Wikisource) ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้องทั้ง 2 ฉบับ
แน่นอนครับว่า ฉบับภาษาไทย “ผมอ่านออกครับ” ส่วนฉบับภาษาฝรั่งเศสนั้น ผมขอความช่วยเหลือจากรุ่นน้อง มช. ที่เรียนจบวิชาเอกภาษาฝรั่งเศส ปัจจุบันทํางานเกี่ยวข้องและใช้ภาษาฝรั่งเศสให้ช่วยแปล ซึ่งข้อความจากที่รุ่นน้องแปลให้นี้เอง ทําให้ผมเกิดคําถามที่ต้องออกมาหาผู้รู้ให้มาช่วย “บอกหน่อยได้ไหมว่า “ทําไมข้อความในภาษาไทยกับฝรั่งเศสจึงไม่ตรงกัน” ครับ
ความแตกต่างของเนื้อความที่ผมพบมีอยู่ 2 แห่งคือ
(1) เนื้อความในข้อ 2 ของ “สนธิสัญญา มีสาระสําคัญที่เกี่ยวกับเกาะกูดต่างกัน
อย่างมีนัยสําคัญ กล่าวคือ
ART. 2. Le Gouvernment Français cède au Siam les territoires de Dansaï et le Kratt dont les frontières sont définies par les clauses I and II dudit protocole, ainsi que toutes les îles situées au sud du Gap Lemling, jusques et y compris Koh-Kut.
จากการแปลความฉบับภาษาฝรั่งเศสของผู้เชี่ยวชาญ ได้เนื้อความดังนี้ครับ
“ข้อ 2 รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้ายและเมืองตราด กับทั้งเกาะทั้งหลาย ซึ่งอยู่ใต้แหลมสิงจนถึงเกาะกูด และรวมเกาะกูดด้วย” นั้นให้แก่กรุงสยามตามกําหนดเขตร์แดนดังว่าไว้ ในข้อ 1 และ 2 ของสัญญาว่าด้วยปักปันเขตแดนดังกล่าวมาแล้ว
ส่วนฉบับภาษาไทยในราชกิจจานุเบกษา หน้า 345 ปรากฏเนื้อความ ดังนี้
(2) เนื้อความในข้อ 5 ของ “สนธิสัญญา มีตัวเลขที่คลาดเคลื่อนกัน โดยในเอกสารภาษาฝรั่งเศสระบุถึง “ข้อ 9” ในสนธิสัญญา ฉบับปี ค.ศ. 1904 ส่วนฉบับภาษาไทยระบุถึง “ข้อ 11 ในสนธิสัญญาดังกล่าว ซึ่งแม้ผู้ที่แปลภาษาฝรั่งเศสไม่ได้ก็ยังสามารถเห็นความแตกต่างในตัวเลขได้ครับ
ART. 5. Tous les Asiatiques, sujets et protégés français, qui se feront inscrire dans les consulats de France au Siam après la signature du présent traité, par application de l’article 9 de la Convention du 13. février 1904, seront justiciables des tribunaux siamois ordinaires.
ส่วนฉบับภาษาไทยในราชกิจจานุเบกษา ปรากฏเนื้อความ ดังนี้
ผมลองไปสืบค้นข้อมูลต่อ ก็พบว่าในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 24 ฉบับเดียวกันกับที่ลงประกาศสนธิสัญญาไทย (สยาม)-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 หน้า 368 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม ร.ศ. 126 ได้มีประกาศ “บอกแก้” เพื่อแก้ไขความที่ลงประกาศสนธิสัญญา ในหน้า 345 ข้อ 2 โดยแก้ไขคําว่า “แหลมสิง” เป็น “แหลมลิง” และในหน้า 348 แก้ไขคําว่า “หนังสือญสัญา” เป็น “หนังสือสัญญา” ซึ่งเป็นความคลาดเคลื่อนในการพิมพ์ ส่วนเนื้อความที่คลาดเคลื่อนจากภาษาฝรั่งเศสที่กล่าวมาข้างต้น ผมสืบค้นไม่พบว่ามีการ “บอกแก้” แต่อย่างใด
ผมจึงตั้งข้อสมมุติฐานไว้ว่า (1) เอกสาร “สนธิสัญญาไทย (สยาม)-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 (Franco-Siamese Treaty of 1907)” ทั้งฉบับภาษาไทยและฉบับภาษาฝรั่งเศส ที่ผมได้มานั้นเป็นสําเนาเอกสารที่ถูกต้อง มิได้มีการดัดแปลงแก้ไขใด ๆ และ (2) การแปล “ภาษาฝรั่งเศส” เป็น “ภาษาไทย” เกิดความคลาดเคลื่อนจริง อย่างไรก็ตาม นับเป็นความรอบคอบในการทําสนธิสัญญา เพราะความในข้อ 8 ของสนธิสัญญา ระบุไว้ว่า “ถ้ามีข้อเถียงกันขึ้นในการแปลความหมายของหนังสือสัญญานี้ ที่ได้ทําไว้ทั้งภาษาไทยและภาษาฝรั่งเศสนั้น จะต้องใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก”
หากเป็นจริงดังที่ผมตั้งข้อสมมุติฐานไว้ ผมขอเสนอแนะให้ “รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศทบทวนเอกสารดังกล่าว และจัดทําคําแปลใหม่ให้ถูกต้อง รวมทั้งส่งให้รัฐบาลฝรั่งเศสรับรองเอกสารใหม่อีกครั้งหนึ่ง” เพราะในอนาคต เราอาจต้องใช้เอกสารเหล่านี้เป็นหลักฐานในการยืนยันกับประเทศกัมพูชา ที่อาจหยิบยกมาอ้าง ในขณะที่เรายังเข้าใจผิด “ตามคําแปลที่ผิด ๆ มาแต่ต้น” ก็เป็นได้ครับ หรือหากว่าข้อสมมุติฐานของผมผิด หรือผมเข้าใจผิด ขอความกรุณาผู้รู้ช่วย “บอก (ผม) หน่อยได้ไหม” ครับ