พักหนี้…ช่วยน้ำท่วมอีสาน

คอลัมน์ ชั้น 5ประชาชาติ
โดย วิไล อักขระสมชีพ

ยามวิกฤต…ร่วมด้วยช่วยกันของทุกภาคส่วน คือ พลังของคนไทย สถานการณ์น้ำท่วมหนักในภาคอีสานเกิดเป็นวงกว้างมากขึ้น จากอิทธิพล “พายุเซินกา” กระทบผู้ประสบภัยน้ำท่วมกว่า 15 จังหวัดในพื้นที่ 58 แห่ง ที่ได้รับความเสียหายหนักทั้งเส้นทางสัญจร

บ้านเรือนที่อยู่อาศัย ภาคธุรกิจต่าง ๆ เอสเอ็มอีร้านค้าโรงงาน ซึ่งปัญหาใหญ่ที่ตามมาหนีไม่พ้นเรื่อง “เงิน” ที่เป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตประจำวันของคนและธุรกิจ เศรษฐกิจ เพราะแต่ละคนก็มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินเพิ่มมากขึ้น เงินที่ต้องใช้หมุนเวียน บวกกับภาระหนี้สินครัวเรือนที่ต้องผ่อนชำระกัน ดังนั้นในระยะสั้น เศรษฐกิจภาคอีสานสะดุดชะงัก

แน่นอน โดยเฉพาะจังหวัดที่ได้รับผลกระทบหนักมาก อาทิ สกลนคร มหาสารคาม ศรีสะเกษ นครราชสีมา กาฬสินธุ์ เศรษฐกิจในภาคอีสาน ถือเป็นเศรษฐกิจ

ฐานรากที่สำคัญของประเทศ ทั้งด้วยขนาดพื้นที่ที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรและผู้คนที่อาศัยอยู่จำนวนมาก ซึ่งต้องยอมรับว่าภาคอีสานจัดเป็นเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่มีความเปราะบางมาก เพราะที่ผ่านมาภาคครัวเรือนของคนในท้องที่ ก็เผชิญกับความยากลำบากอยู่ก่อนแล้ว ทั้งจากรายได้จากราคาสินค้าเกษตรที่ส่วนใหญ่จะปรับตัวลดลง

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติน้ำท่วมในครั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบในเบื้องต้นต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจรวม ๆ เสียหายกว่า 15,725 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมความเสียหายด้านทรัพย์สิน ถนนหนทางที่เสียหาย

สำหรับส่วนที่เสียหายหนักสุด คือ ภาคเกษตร เสียหายราว 12,375 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่ประเมินจากเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบราว 4.6 แสนราย ครอบคลุมพื้นที่ประสบภัยด้านพืช 3.6 ล้านไร่

ด้านปศุสัตว์ เป็นต้น ตามด้วยภาคพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ที่สูงราว 2,000 ล้านบาท และภาคท่องเที่ยวและบริการอื่น ๆ อีกว่า 1,350 ล้านบาท (ซึ่งในส่วนท่องเที่ยวแม้จังหวัดที่ไม่ได้ถูกน้ำท่วม แต่ก็ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวเลี่ยงการเดินทางได้เช่นกัน)

ท่ามกลางความเดือดร้อนของคนท้องที่ในจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมครั้งนี้ เกิดปรากฏการณ์ของแบงก์พาณิชย์บางแห่งที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบภัยกันไม่น้อย โดยเฉพาะการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่มีภาระผ่อนบ้าน รถ รวมไปถึงภาคธุรกิจต่าง ๆ

เอสเอ็มอี ซึ่งมีทั้งธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ค่ายกรุงศรี ออโต้ แม้แต่แบงก์รัฐที่มาแรงและเร็วอย่าง ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่เตรียมวงเงินช่วยเหลือและโครงการช่วยเหลือถึง 4 มาตรการทีเดียว แบงก์ออมสิน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ก็ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหาย

ในสำนักงานโรงงาน พื้นที่เกษตรกรรม จนไม่สามารถผลิตหรือขายสินค้าส่งออกได้ตามออร์เดอร์ลูกค้าต่างประเทศ รวมไปถึงกรมบังคับคดี ที่เปิดทางช่วยเหลือลูกหนี้ขั้นบังคับคดี ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ สามารถแจ้งไป ยังสำนักงานบังคับคดีจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม จัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี เพื่อลดการถูกบังคับคดียึด อายัด หรือขายทอดตลาด โดยการไกล่เกลี่ย ไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น

แม้แต่ทางเครดิตบูโร หรือบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) ก็ได้ออกมาผ่อนผันให้สถาบันการเงินกว่า 96 แห่ง สามารถรายงานและนำส่งข้อมูลการชำระหนี้ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามข้อตกลงหรือข้อผ่อนผันนั้น ในสถานะบัญชี “ปกติ” แทนการรายงานและนำส่งข้อมูลว่า “ลูกค้าผิดนัดชำระหนี้”

เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ให้เกิดความเสียหายในประวัติของตนเองจากพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมรุนแรงช่วงเวลา 7 วันที่เกิดขึ้น ทำให้เศรษฐกิจชะงัก เกิดความเสียหายกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ถึงแม้ว่าสัดส่วนจะอยู่ที่ 0.1% ของจีดีพี แต่ก็ยังมีผลกระทบเรื้อรังต่อเนื่อง

อีกในช่วงหลังจากนั้น และยังมีความไม่แน่นอนของภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในช่วงที่เหลือของปีนี้
อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เป็นความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นเสมอ ลูกหนี้รายใดที่มีปัญหาขาดความสามารถในการผ่อนชำระหนี้สินที่อยู่ในพื้นที่ ที่ได้รับสิทธิทั้งพักการจ่ายเงินต้นช่วงสั้น การปรับลดดอกเบี้ยลงตั้งแต่ 0% ขึ้นไป ตามแต่เงื่อนไขหนี้ การยืดหนี้ การผ่อนผันเวลาชำระหนี้ การให้เงินทุนหมุนเวียน การฟื้นฟู

จากความเสียหาย ก็อย่าลืมไป “ใช้สิทธิ” ที่นาน ๆ เจ้าหนี้จะเต็มใจช่วยเหลือกัน อย่างน้อยก็ช่วยยืดลมหายใจทางการเงินไปได้ 3-6 เดือนข้างหน้า เจ้าหนี้ที่ใจดีก็ยืดให้ยาวไปราว 1 ปี หากจะให้ดี อยากให้เจ้าหน้าที่แบงก์ลงพื้นที่ช่วยลูกหนี้ที่เข้าไม่ถึงข้อมูลการช่วยเหลือ ก็จะเป็นการแสดงถึงความจริงใจ ตั้งใจจริง


เพราะถ้าช่วยลูกหนี้ไม่ให้มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ได้ ก็จะช่วยลดผลกระทบของปัญหาหนี้เสีย หรือ NPL (หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้) ของเจ้าหนี้ได้ไม่น้อยเพราะจะได้ไม่ต้องมีต้นทุนเพิ่มจากการแบกภาระตั้งสำรองหนี้เสีย ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงฉุดกำไรของงบฯแบงก์โดยรวม