ปราบโกง…ปัญหาอยู่ที่บังคับใช้กฎหมาย

บทบรรณาธิการ

ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. …. ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 1 ส.ค. 2560 ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดส่งไปยังคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนเสนอให้ สนช. พิจารณา

ก่อนหน้านี้เคยมีการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวหลายครั้ง แต่ต้องเก็บเข้าลิ้นชักเพราะเจอแรงต้าน จึงต้องจับตาดูว่าสัญญาณไฟเขียวจากรัฐบาลครั้งนี้จะทำให้กฎหมายผ่านฉลุย หรือล่มกลางคันอีก

เพราะภายใต้สถานการณ์พิเศษในปัจจุบัน หากรัฐบาลต้องการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม จริงจัง ให้เป็นดาบอาญาสิทธิ์ป้องกันแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้สำเร็จ

แม้แรงต้านลึก ๆ จากเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง กลุ่มผลประโยชน์อาจยังมีอยู่ เพราะจะได้รับผลกระทบโดยตรง หากร่างกฎหมายเจ็ดชั่วโคตร กฎเหล็กฉบับใหม่บังคับใช้ เนื่องจากการตรวจสอบการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมจะเข้มงวดรัดกุมมากยิ่งขึ้น ทั้งยังครอบคลุมถึงบุพการี ผู้สืบสันดาน ตลอดจนเครือญาติของข้าราชการ นักการเมือง

สาระสำคัญของร่างกฎหมาย กำหนดบทบัญญัติให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำการโดยยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก สุจริต และเที่ยงธรรม รวมทั้งห้ามเจ้าหน้าที่รัฐ คู่สมรส บุตร มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ว่าทางตรง ทางอ้อม เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือบุคคลอื่น

ขณะเดียวกันก็ห้ามรับทรัพย์สิน เงินทอง ของขวัญ ของที่ระลึก เว้นแต่ได้รับตามกฎหมาย หรือตามจำนวนสมควรตามปกติประเพณีนิยม ฯลฯ นอกจากนี้กรณีพ้นตำแหน่งไม่ถึงสองปี ห้ามนั่งเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา พนักงาน ลูกจ้าง ฯลฯ ในธุรกิจเอกชนที่เคยอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่กำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบ เป็นต้น

ถือเป็นการตรวจสอบที่เข้มข้นเพิ่มเติมจากกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาทิ กฎหมายป้องกันการฟอกเงิน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริต พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ฯลฯ ขณะที่หน่วยงานป้องกันปราบปรามคอร์รัปชั่นก็มีมากจนจำชื่อไม่หวาดไม่ไหว เช่นเดียวกับการรณรงค์ปลุก


จิตสำนึกต่อต้านคอร์รัปชั่นที่ทำต่อเนื่อง แต่การทุจริตยังฉาวโฉ่ไม่เว้นวัน ปัญหาใหญ่จึงน่าจะอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดจริงจัง อุดช่องโหว่ เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันปราบปรามคอร์รัปชั่นให้เกิดผลในทางปฏิบัติ หน่วยงานที่เคยทำแบบลูบหน้าปะจมูกก็ต้องปรับแก้ไข มิฉะนั้นการถอนรากถอนโคนการโกงกินจะสัมฤทธิผลไม่ได้