คอลัมน์ : มองข้ามชอต ผู้เขียน : ดร.เกียรติศักดิ์ คำสี ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)
ทรัพยากรธรรมชาติของโลกกำลังเผชิญกับความเสื่อมโทรมในระดับวิกฤต สะท้อนได้จากข้อมูลของสหประชาชาติในปี 2022 ที่ชี้ให้เห็นว่า 40% ของผืนดินโลกอยู่ในภาวะเสื่อมโทรมและบางส่วนกำลังกลายสภาพเป็นทะเลทราย หรือข้อมูลขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ที่ชี้ให้เห็นว่า ระหว่างปี 1970-2020 ประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกลดลงถึง 73%
วิกฤตการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่รุนแรงขึ้นนี้ ส่งผลให้แนวคิด “Nature Positive” หรือการปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติ กลายเป็นเป้าหมายความยั่งยืนใหม่ที่มีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากเป้าหมายนี้ไม่ได้หยุดแค่การป้องกันผลกระทบด้านลบของการดำเนินธุรกิจต่อธรรมชาติ แต่รวมถึงการสร้างผลกระทบเชิงบวกเพื่อช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ
Nature Positive เป็นเป้าหมายของประชาคมโลกที่จะยุติการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและช่วยฟื้นฟูธรรมชาติให้เริ่มกลับมาอยู่ในระดับที่ดีกว่าปี 2020 ภายในปี 2030 และช่วยฟื้นฟูให้ธรรมชาติคืนสู่ภาวะปกติภายในปี 2050 หรือหากจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติโลกในปี 2030 จะต้องดีกว่าปี 2020 และต้องปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เช่น ทรัพยากรดินที่เสื่อมโทรมในปัจจุบัน จะต้องได้รับการฟื้นฟูให้มีระดับความอุดมสมบูรณ์ที่ดีกว่าปี 2020 ภายในปี 2030 และจะต้องพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะต่อไป
ภาคธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญกับเป้าหมาย Nature Positive เนื่องจากธรรมชาติเป็นรากฐานสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจและการแก้ปัญหาโลกร้อน
โดยข้อมูลของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ในปี 2020 ชี้ให้เห็นว่า ราว 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก (GDP) ถูกขับเคลื่อนโดยอุตสาหกรรมที่พึ่งพาธรรมชาติในระดับปานกลางถึงสูง ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร มีการใช้ทรัพยากรดิน น้ำ และมหาสมุทรในระดับสูง หรืออุตสาหกรรมก่อสร้างมีการใช้วัสดุส่วนใหญ่จากธรรมชาติ เป็นต้น
นอกจากนี้ ภาคธุรกิจเริ่มตระหนักว่า การมุ่งเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เพียงอย่างเดียว ยังไม่เพียงพอที่จะแก้วิกฤตโลกร้อน เนื่องจากการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติจะทำให้ก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศปรับตัวเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น หญ้าทะเลที่หายไป จะทำให้คาร์บอนที่หญ้าทะเลดูดซับเอาไว้ถูกปล่อยไปสู่ชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้โลกร้อนขึ้น เป็นต้น
ปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ ทั้งในระดับโลกและในไทย ได้เริ่มมีการนำเป้าหมาย Nature Positive มาใช้ควบคู่กับเป้าหมาย Net Zero บ้างแล้ว ตัวอย่างเช่น บริษัท เนสท์เล่ ที่มีเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 ได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะจัดหาวัตถุดิบจากพื้นที่เกษตรกรรมเชิงฟื้นฟูให้ได้ 50% ของการจัดหาวัตถุดิบทั้งหมดภายในปี 2030 ซึ่งเป้าหมายนี้จะช่วยฟื้นฟูธรรมชาติ เนื่องจากการทำเกษตรกรรมเชิงฟื้นฟูจะเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของดินและความหลากหลายทางชีวภาพ
อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ บริษัท หลุยส์ วิตตอง ที่พึ่งพาวัตถุดิบในการผลิตสินค้าจากธรรมชาติในระดับสูง ได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะรักษาและฟื้นฟูธรรมชาติในพื้นที่สูงถึง 31.3 ล้านไร่ ภายในปี 2030 ควบคู่ไปกับเป้า Net Zero ในปี 2050 หรือบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ ได้มีการตั้งเป้า Nature Positive
ควบคู่กับเป้าการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นลบภายในปี 2050 และมีแนวทางบรรลุเป้าหมายที่หลากหลาย เช่น การสร้างพื้นที่ป่าในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อรักษาและส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางชีวภาพและระบบนิเวศในพื้นที่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม
สำหรับธุรกิจไทยเป้าหมาย Nature Positive ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งธุรกิจไทยที่มีความมุ่งมั่นสู่ความยั่งยืน หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำเป้าหมายนี้มาปรับใช้ เนื่องจากธุรกิจไทยมีการพึ่งพาธรรมชาติในระดับสูง โดยจากการประเมินของ PwC (PricewaterhouseCoopers) ในปี 2024 พบว่า 61% ของมูลค่าหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาจากธุรกิจที่พึ่งพาธรรมชาติในระดับปานกลางถึงสูง
โดยในปัจจุบันบริษัทเหล่านี้ได้เริ่มมีการนำเป้าหมาย Nature Positive มาปรับใช้บ้างแล้ว เช่น ไทยยูเนี่ยน มีเป้าหมายที่จะสร้างท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์ หรือเอ็กโก กรุ๊ป มีเป้าหมายสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อความหลากหลายทางชีวภาพในทุกการดําเนินงาน เป็นต้น
อนึ่ง การเริ่มต้นนำเป้าหมาย Nature Positive มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจสามารถทำได้ผ่าน 5 ขั้นตอนสำคัญ ดังนี้ 1) ประเมินผลกระทบของการดำเนินธุรกิจต่อธรรมชาติและการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ ขั้นตอนนี้จะทำให้ผู้ประกอบการเห็นโอกาสลดความเสี่ยงและสร้างโอกาสทางธุรกิจจากเป้าหมาย Nature Positive
2) ตั้งเป้าหมายให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติหรือมาตรฐานของอุตสาหกรรม โดยมาตรฐาน SBTN (Science Based Targets Network) เป็นมาตรฐานการตั้งเป้าหมาย Nature Positive ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
3) ค้นหาแนวทางที่จะช่วยบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยต้องประเมินความคุ้มค่าและความเป็นไปได้ในการนำแนวทางต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ 4) ดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย ผ่านการสร้างกลไกในองค์กรที่จะช่วยให้การดำเนินการตามแผนบรรลุผล เช่น การกำหนดค่าตอบแทนของผู้บริหารให้ยึดโยงกับผลการดำเนินงานตามเป้าหมาย Nature Positive
และ 5) ติดตาม ประเมิน และรายงานผลการดำเนินงานต่อสาธารณะ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ทราบถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง
โลกของเรากำลังอยู่บนเส้นทางที่อาจนำไปสู่การล่มสลายของธรรมชาติ ซึ่งหากไม่เร่งแก้ไข ก็จะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การเร่งปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจให้ช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด ที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน และช่วยส่งต่อโลกที่ดีขึ้นให้คนรุ่นต่อไป
คุณพร้อมหรือยังที่ร่วมสร้างธุรกิจให้เป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูธรรมชาติและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้โลกของเรา ?