จัดระเบียบหน้าบ้านให้น่ามอง รับรถไฟฟ้ามาหานะเธอ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ประเสริฐ จารึก

นับถอยหลังจากนี้อีก 7 เดือน หรือปลายปี 2561 ชาวปากน้ำจะได้นั่งรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วง “แบริ่ง-สมุทรปราการ” ตลอดสาย จอดป้าย 9 สถานี หลังปีที่ผ่านมาเปิดบริการถึงสถานีสำโรง

รถไฟฟ้าสายนี้จะเชื่อมการเดินทางจากใจกลางกรุงเทพฯไปยังสมุทรปราการ

ซึ่ง “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” ทุ่มเม็ดเงิน 27,673 ล้านบาทก่อสร้าง ส่วนการเดินรถ มี “กทม.-กรุงเทพมหานคร” เป็นผู้บริหารโครงการ ตามมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) วันที่ 10 มิ.ย. 2558

เพื่อให้การเดินรถต่อเนื่อง โดยที่ผู้โดยสารไม่ต้องลงจากขบวนรถ สามารถนั่งจากสถานีปลายทางเคหะสมุทรปราการเข้าไปในเมืองสะดวกรวดเร็ว

ปัจจุบันโครงสร้างงานโยธาเสร็จ 100% รอติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณที่ตอนนี้ความก้าวหน้ากว่า 60% ยังล่าช้าจากแผนอยู่กว่า 3%

ขณะนี้ “กทม.-รฟม.” กำลังเร่งเคลียร์หนี้ให้จบก่อนจะเปิดหวูดเดือน ธ.ค.นี้ หาก กทม.หาเงินมาชำระคืนให้ไม่ได้ การเปิดบริการก็อาจต้องเลื่อนออกไป

ต้องรอดูฝีมือผู้ว่าฯ กทม.”บิ๊ก วิน-พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ว่าจะขี่ม้าขาวร่ายมนตร์สะกดสภา กทม.ที่กำลังขย่มปมหนี้ก้อนโตกว่า 1.1 แสนล้านยังไงให้ผ่านฉลุย

ขณะที่ “พ่อเมืองปากน้ำ” ก็ต้องเดินหน้าภารกิจการจัดระเบียบเมือง ให้หน้าบ้านน่ามอง รองรับกรถไฟฟ้าที่จะเปิดหวูดเป็นทางการ รวมถึงคลื่นการลงทุนที่กำลังรุกเข้าไปอย่างต่อเนื่อง

เพราะปัจจุบันริมถนนสุขุมวิทที่รถไฟฟ้าพาดผ่าน ยังมีสายไฟฟ้าและสายสื่อสารระโยงระยางอุจาดตา

ทั้งที่ตั้งเป้าให้ “สมุทรปราการ” เป็นมหานครไร้สายคู่กับกรุงเทพฯและนนทบุรี

สำหรับการนำสายไฟลงดิน “คณะรัฐมนตรี” มีมติอนุมัติโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน

ตามที่ “กฟน.-การไฟฟ้านครหลวง” เสนอเป็นแผน 10 ปี (2559-2568) รวมระยะทาง 127.3 กม. เงินลงทุน 48,717 ล้านบาท ประกอบด้วยพื้นที่กรุงเทพฯ ระยะทาง 88.1 กม. สมุทรปราการ 25.7 กม. และนนทบุรี 13.5 กม.

ด้วยเงินลงทุนที่สูง ทำให้พื้นที่ “สมุทรปราการ” จะดำเนินการในบางจุดที่สำคัญ

ส่วนแผนนำสายสื่อสารลงดิน ทาง “กสทช.” มีแผนจัดระเบียบสายในเส้นทางวิกฤต 24 เส้นทาง ใน 4 ภูมิภาค ให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลเปลี่ยนสายอากาศเป็นระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน

ล่าสุดกำลังร่วมกับ กทม.จัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพฯ คิกออฟชุมชนหนาแน่นย่านธุรกิจเป็นลำดับแรก

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ล่าสุด กทม.ประชุมร่วมกับคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) เพื่อเร่งจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ประชุมมีมติให้ กทม.เป็นผู้ดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน โดย กทม.มีข้อเสนอ 2 ประเด็น

1.กทม.จะจัดทำโครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินทั่วกรุงเทพฯประมาณ 7,000 กม. คาดว่าใช้เวลา 3-4 ปี จะเริ่มบริเวณชุมชนหนาแน่น เช่น ย่านธุรกิจเป็นลำดับแรก ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นขออนุญาตจากคณะกรรมการโครงสร้างพื้นฐานกระทรวงดิจิทัลฯ จากนั้นจะเปิดให้เอกชนมาเช่าใช้โครงข่ายท่อร้อยสาย เพื่อให้บริการประชาชนต่อไป

2.ส่วนสายสื่อสารยังไม่ได้นำลงใต้ดิน จะเร่งจัดระเบียบให้เรียบร้อยไม่ให้รกรุงรังเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ขณะนี้ กสทช. กำลังสำรวจว่ามีมากน้อยเพียงใด จากนั้น “กทม.-กสทช.-ทีโอที-แคท” และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันจัดระเบียบต่อไป

นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี จากการมองตัวเราเอง ดีกว่าให้คนอื่นมองแล้วชี้เป้าให้เราทำ

หากแผนเดินหน้าเต็มสูบ ไม่ใช่เป็นแพลนแล้วนิ่ง อีกไม่นานเกินรอ วาระแห่งชาติจะผลักดันประเทศไทยเป็นมหานครไร้สายแห่งอาเซียน คงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม !