เปิดหน้าประวัติศาสตร์ สวนผนึกล้ง แก้วิกฤตทุเรียน

Durian problem
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กฤษณา ไพฑูรย์

นับเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ครั้งแรกในวงการทุเรียนไทย เมื่อบรรดาผู้ประกอบการทั้งเกษตรกร โรงคัดบรรจุ (ล้ง) ผู้ส่งออก “ระดับบิ๊ก ๆ” ในแวดวงทุเรียนกว่า 2,000 คน ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก จันทบุรี ตราด ระยอง ไปรวมตัวกันอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี (อบจ.) เมื่อวันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา

เนื่องจากปัญหาสารตกค้างแคดเมียม และสารย้อมสี Basic Yellow 2 หรือ BY2 ยังไม่สามารถหาทางออกเพื่อคลี่คลาย ขณะที่ผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกกว่า 1 ล้านตัน จะเริ่มทยอยออกผลผลิตช่วงปลายเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2568

ขณะที่เกษตรกร “ยักษ์ใหญ่” ตั้งแต่ระดับ 1,000 ไร่ ลงมาถึงไม่กี่ 10 ไร่ ต่างก็ร้อนใจเดินกันขวักไขว่ใน อบจ. เพราะปกติล้งต้องเข้าไปแย่งกันจ่ายเงินมัดจำ “เหมาสวน” ล่วงหน้าแล้ว แต่วันนี้เกิดสถานการณ์ “ชะงักงัน” กันทั้งวงการ ไม่มีล้งมาเหมาสวน เพราะล้งหวั่นใจว่า หากเจอ “สารแคดเมียม” ตกค้าง จะเกิดความเสียหายทันที จึงเป็นที่มาให้สวนตื่นตัวในการสมัครใจที่จะเก็บดิน และน้ำไปตรวจหาสารแคดเมียมก่อนขาย

ขณะที่ล้งเองหวั่นใจว่า ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผลผลิตออกมากถึง 1,000 ตู้ต่อวัน แม้กรมวิชาการเกษตรออกมารับประกันว่าแล็บ 8 แห่ง มีศักยภาพรองรับการตรวจได้ แต่ล้งมิอาจนิ่งนอนใจว่าในทางปฏิบัติทำกันได้ทันจริงหรือไม่ ?

ที่สำคัญกว่านั้น ด่านจีนเองถ้าตรวจกันทุกลอต งานจะล้นมือหรือไม่ ! เพราะมีทั้งทุเรียนของไทย เวียดนาม และมาเลเซีย

บทเรียนเมื่อครั้งตรวจเข้มโควิด-19 มีรถบรรทุกไปติดค้างสะสมหน้า “ด่านโหย่วอี้กวน” ติดยาวนับพันคัน ! จนส่งผลให้ทุเรียนเสียหาย ตู้ละ 4-5 ล้านบาท

ADVERTISMENT

ดังนั้นในช่วงเดือนกว่า ๆ ภาครัฐ ภาคเอกชนไทย จึงต้องการแสดงออกให้ฝ่ายจีนเห็นถึงความตั้งใจจริงจังในการแก้ปัญหา และนำไปสู่การเจรจาผ่อนปรน “ยกเลิก” การตรวจเข้มที่ด่านจีน

ที่ประชุมได้ข้อสรุปประกาศ 5 แนวปฏิบัติ 1) การกำหนดวัน Bic Cleaning Day ทั้งสวน ล้ง พร้อมกันทั้งจังหวัด ไม่เกินวันที่ 28 ก.พ. 68 ให้ผู้บริโภคชาวจีนเห็นว่าเราจริงจัง

ADVERTISMENT

2) ขอความร่วมมือกรมวิชาการเกษตร ตรวจร้านปุ๋ย ยา ปัจจัยการผลิตอย่างเข้มข้น ให้เกษตรกรซื้อปัจจัยการผลิตที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง เพื่อไม่ให้มีสารปนเปื้อนแคดเมียม และ BY2

3) ให้บริษัท เซนทรัลแลป และเอมาร์ค (AMARC) พร้อมตรวจผลรับรองการส่งออกทั่วประเทศ ในช่วงพีกสุดวันละ 1,000 ตู้ 4) การตรวจเพื่อรับทราบเป็นข้อมูลให้ล้งเบื้องต้น

5) ของบประมาณปี 2568 จาก สวก. 58 ล้านบาท แผนในอนาคตจะจัดหาเครื่องตรวจแคดเมียม และ BY2 มาให้มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ให้บริการเพื่อตรวจเพื่อรับทราบ

จึงถึงเวลาที่ชาวสวน ล้ง และราชการต้องปรับตัวร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงใจและจริงจัง เพื่อจะผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้